คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานเครื่องมือหรืออุปกรณ์และมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีอำนาจในการออกประกาศฯ ซึ่งไม่อาจกระทำได้ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงานไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
1. โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (16 มิถุนายน 2563) เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและองค์การทางทะเลระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการตรวจสอบประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme : IMSAS) โดยเห็นควรให้ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) เข้ารับการตรวจประเมินจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งจะดำเนินการตรวจสอบประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme : IMSAS) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564
2. คค. โดยกรมเจ้าท่าได้เตรียมความพร้อมโดยได้จัดจ้างที่ปรึกษา (สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เพื่อยกระดับการปฏิบัติตามพันธกรณีและจากการประเมินเบื้องต้นของที่ปรึกษาฯ ตามรายงานความก้าวหน้า ครั้งที่ 3 (Progress Report) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 พบว่า ประเทศไทยมีหน้าที่ปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตรและการเข้ายามสำหรับคนประจำเรือ ค.ศ. 1978 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยยังขาดกฎระเบียบที่รองรับการปฏิบัติในการกำหนดหลักเกณฑ์การเข้ายาม (Watchkeeping) ชั่วโมงการพักผ่อน (Hours of rest) และความเหนื่อยล้าจากการทำงาน (Fatigue) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาระสำคัญของอนุสัญญาฯ ที่ประเทศไทยในฐานะประเทศภาคีต้องปฏิบัติตาม
3. ดังนั้น กรมเจ้าท่าพิจารณาแล้ว เห็นควรปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานเครื่องมือหรืออุปกรณ์และมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ พ.ศ. 2561 โดยกำหนดให้อธิบดีกรมเจ้าท่าสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อให้เจ้าของเรือจัดทำมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ ให้สอดคล้องและเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตรและการเข้ายามสำหรับคนประจำเรือ ค.ศ. 1978 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (Maritime Labour Convention 2006, MLC as amended) ซึ่งจะช่วยให้ กรมเจ้าท่าสามารถกำกับดูแลให้เจ้าของเรือดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และคุ้มครองคนประจำเรือบนเรือไทย ให้มีสวัสดิภาพการทำงานให้มีความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานเครื่องมือหรืออุปกรณ์และมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน บนเรือ พ.ศ. ?. มาเพื่อดำเนินการ
1. ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานเครื่องมือหรืออุปกรณ์และมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ พ.ศ. 2561
2. กำหนดนิยาม ?ความปลอดภัยในการทำงาน? ?การบ่งชี้อันตราย? และ ?การประเมิน ความเสี่ยง?
3. กำหนดให้เจ้าของเรือกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือให้สอดคล้องกับประมวลข้อบังคับการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัย (International Safety Management Code) ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน การบาดเจ็บ และโรคที่เกิดจากการทำงาน
4. กำหนดให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการเข้ายามและกำหนดชั่วโมงการพักผ่อนให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตรและการเข้ายามสำหรับคนประจำเรือ ค.ศ. 1978 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention on Standards of Training, Certification and Watchkeeping for Seafarers 1978, STCW as amended) และอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (Maritime Labour Convention 2006, MLC as amended)
5. กำหนดให้เจ้าของเรือกำหนดมาตรการในการดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ อธิบดีกรมเจ้าท่ากำหนด โดยเจ้าของเรือต้องจัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีมาตรฐานและเพียงพอ รวมถึงสอดคล้องต่อการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ รวมถึงกำหนดให้คนประจำเรือมีหน้าที่ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ และปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยที่เจ้าของเรือกำหนด
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2564