คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดไม้ทรงคุณค่า พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
1. โดยที่มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 บัญญัติให้ ?ไม้ทรงคุณค่า? หมายความว่า ไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และให้หมายความรวมถึงไม้อื่นใดที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไปตามลักษณะหรือชนิดที่กำหนดในกฎกระทรวงและมาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทส. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดไม้ทรงคุณค่า พ.ศ. ?. เพื่อกำหนดลักษณะและชนิดของไม้ทรงคุณค่า
2. ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงตามข้อ 1. และให้ดำเนินการต่อไป ประกอบกับพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 มาตรา 16 บัญญัติให้การเสนอแนะในการออกกฎกระทรวงของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่ง ทส. ได้รับฟังความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ โดยผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักจัดการป่าชุมชน https://www.forest.go.th/community ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และมีหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่อง ป่าชุมชน และรับฟังความคิดเห็นกฎหมายอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ระหว่างวันที่ 19 ? 20 ธันวาคม 2562 โดยมีผู้แทนเครือข่ายชุมชน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และผู้แทนภาคประชาชนเข้าร่วมประชุม โดยส่วนใหญ่เห็นชอบในหลักการของร่างกฎกระทรวงฯ
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดไม้ทรงคุณค่า พ.ศ. ?. มาเพื่อดำเนินการ
1. กำหนดบทนิยามคำว่า ?แผนจัดการป่าชุมชน? หมายความว่า แผนจัดการป่าชุมชนที่คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนจัดทำขึ้นโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนประจำจังหวัด
2. กำหนดให้พันธุ์ไม้ที่มีลักษณะหรือชนิดดังต่อไปนี้เป็นไม้ทรงคุณค่า
2.1 ไม้ยืนต้นที่มีขนาดความโตตั้งแต่ 200 เซนติเมตรขึ้นไปโดยวัดรอบลำต้นตรงที่ระดับความสูง 130 เซนติเมตรจากพื้นดิน เว้นแต่ต้นไม้ที่ลำต้นมีลักษณะผิดปกติ เช่น เป็นพูพอน ปุ่ม ตา หรือกิ่วคอดตรงที่ระดับความสูง 130 เซนติเมตร ให้วัดโดยรอบลำต้นตรงที่ถัดจากที่มีลักษณะผิดปกติขึ้นไปใกล้ชิดที่สุด
2.2 ต้นไม้ที่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ เชิงวัฒนธรรมประเพณี ไม้ตามความเชื่อที่สืบต่อกันมาในท้องถิ่น พันธุ์ไม้ที่หาได้ยากหรือใกล้สูญพันธุ์ หรือที่มีความสำคัญเชิงนิเวศในป่าชุมชน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2564