คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. ?. ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะกำกับดูแลศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) รับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงาน ก.พ. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. ?. เป็นการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเปลี่ยนชื่อองค์กร ปรับปรุงวัตถุประสงค์หน้าที่และอำนาจของสถาบัน ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ตลอดจนปรับปรุงบทบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับ การดำเนินงานของสถาบันฯ และเพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลส่งเสริมและสนับสนุนศิลปหัตถกรรมไทยอย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
1. ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. เปลี่ยนชื่อองค์กร จาก ?ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)? เป็น ?สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)? เรียกโดยย่อว่า ?ส.ศ.ท.? เพื่อให้สื่อถึงบทบาทและภารกิจขององค์กร และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ?The Sustainable Arts and Crafts Institute of Thailand (Public Organization)? เรียกโดยย่อว่า ?SACIT?
3. กำหนดให้สถาบันมีที่ตั้งของสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือในจังหวัดใกล้เคียง และอาจตั้งสำนักงานสาขาได้ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
4. ปรับปรุงวัตถุประสงค์ของสถาบัน โดยกำหนดให้สถาบันมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม สนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพผสมผสานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย และส่งเสริม สนับสนุน ด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
5. แก้ไขหน้าที่และอำนาจของสถาบัน โดยกำหนดให้สถาบันมีหน้าที่และอำนาจ เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มศิลปหัตถกรรมไทย และสนับสนุนด้านการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ พัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์การพัฒนารูปแบบ และการบรรจุผลิตภัณฑ์ ตลอดจนผสมผสานหรือประยุกต์เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัยกับภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาครูสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ และครู่ช่างศิลปหัตถกรรม ในการพัฒนางานหัตถกรรมให้สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
6. กำหนดให้ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินกิจการของสถาบันประกอบด้วยทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา 46 เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี เงินอุดหนุนจากภาคเอกชนหรือองค์กรอื่น รวมทั้งจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินการ และดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสถาบัน
7. ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการ โดยมีประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารงาน ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยพื้นบ้านอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับการดำเนินงานของสถาบัน กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนหนึ่งคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินแปดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูง เป็นที่ประจักษ์ในด้านที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสถาบัน และให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง และยกเลิกคณะที่ปรึกษาพิเศษของคณะกรรมการ
8. กำหนดให้สถาบันจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สิ้นปีบัญชีทุกปี
9. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศหรือคำสั่งใดที่ออกตาม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชกฤษฎีกานี้ จนกว่าจะมีระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2564