การนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก

ข่าวการเมือง Tuesday January 19, 2021 18:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเอกสารนำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก เมืองโบราณศรีเทพ และ ให้ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ลงนามในเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลกต่อศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

รายละเอียด ดังนี้

ข้อมูลทั่วไป ?ชื่อประเทศภาคีสมาชิก : จังหวัดเพชรบูรณ์ ประเทศไทย - ชื่อแหล่ง : เมืองโบราณศรีเทพ

ข้อมูลแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม - ขอบเขตของแหล่งที่เสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก : แหล่งมรดกวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง 3 แหล่ง ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ (เมืองในและเมืองนอก) โบราณสถานเขาคลังนอก และโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์

  • พื้นที่แหล่งวัฒนธรรมรวม 866.475 เฮกตาร์ (ประมาณ 8.66 ตารางกิโลเมตร) และ มีพื้นที่กันชน 4,871.204 เฮกตาร์ (ประมาณ 48.71 ตารางกิโลเมตร)

เหตุผลที่สมควรสำหรับการมีคุณค่าความโดดเด่นเป็นสากล (1) เมืองโบราณศรีเทพมีรูปแบบ ผังเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ โดยผังเมืองขยายเป็น 2 ชั้นซ้อนกัน เรียกว่า เมืองในและเมืองนอก (2) ศาสนสถานเขาคลังนอกที่แสดงถึงความเป็นมณฑลจักรวาลที่หลงเหลือหลักฐานค่อนข้างสมบูรณ์ (3) ศาสนสถานถ้ำถมอรัตน์ที่มีความสำคัญของศาสนสถานประเภทถ้ำ (4) ประติมากรรม ?สกุลช่างศรีเทพ? ที่มีความโดดเด่นและแตกต่าง จากประติมากรรมในยุคสมัยเดียวกัน โดยเป็นประติมากรรมสลักลอยตัว เอียงตน และมีลักษณะสีหน้าผสมผสาน

เกณฑ์ที่เหมาะสม เกณฑ์สำหรับการนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจำนวน 2 ข้อ ดังนี้ (1) เกณฑ์ข้อที่ 2 : ความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหรือ ในพื้นที่ในวัฒนธรรมใด ๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือทางเทคโนโลยี อนุสรณ์ศิลป์ การวางแผนผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์ เนื่องจากเมืองโบราณศรีเทพ มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ? 16 เป็นเมืองที่มี การสร้างกำแพงเมือง คูเมือง และมีการติดต่อรับคติความเชื่อทางศาสนา ทั้งพุทธศาสนาแบบเถรวาท มหายาน และศาสนาฮินดู ที่ปรากฏหลักฐานทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรมต่าง ๆ เช่น ศาสนสถาน เขาคลังนอก ศาสนสถานถ้ำถมอรัตน์ (2) เกณฑ์ข้อที่ 3 : เป็นประจักษ์พยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยมหรือหาที่เสมือนไม่ได้ของประเพณีวัฒนธรรมหรืออารยธรรมทั้งที่ยังคงอยู่หรือสูญหายไปแล้ว ซึ่งมีเหตุผลสนับสนุน คือ เมืองโบราณศรีเทพที่มีความสำคัญมากในสมัยทวารวดีที่ยังคงหลงเหลือหลักฐานทางโบราณคดีและงานศิลปกรรม สามารถแสดงความเป็นศูนย์กลางของอารยธรรม มีการติดต่อสัมพันธ์กับวัฒนธรรมใกล้เคียงตั้งแต่วัฒนธรรมอินเดีย วัฒนธรรมเขมร และวัฒนธรรมทวารวดีจากแหล่งอื่น ๆ รวมทั้งเมืองโบราณศรีเทพยังแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของชุมชนที่ ต่างศาสนาในระยะเวลาเดียวกัน เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางที่เชื่อมโยงเส้นทางสัญจร

แผนการบริหารจัดการเมืองโบราณศรีเทพ เป็นไปตามแผนแม่บทการอนุรักษ์ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพฉบับปัจจุบันและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการอนุรักษ์มรดกโลกทางวัฒนธรรม เมืองโบราณศรีเทพ ระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมศิลปากร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อแสดงถึงการปกป้องและอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะต้องนำเสนอเอกสารฯ ต่อศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อเข้าวงรอบการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งมีกำหนดการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ในช่วงเดือนมิถุนายน ? กรกฎาคม 2564

ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานที่ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกรวม 5 แหล่ง ได้แก่

(1) นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

(2) เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร

(3) แหล่งโบราณคดี บ้านเชียง

(4) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ ? ห้วยขาแข้ง และ

(5) ป่าดงพญาเย็น ? เขาใหญ่

โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีเคยเห็นชอบการเสนอสถานที่เป็นแหล่งมรดกโลกในลักษณะเดียวกัน คือ พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 และ 21 มกราคม 2563) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ