ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567

ข่าวการเมือง Tuesday January 19, 2021 18:58 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 [เป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่ให้เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวต่อคณะรัฐมนตรีทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้การบริหารจัดการข้าวสอดคล้องกันทั้งระบบและมีการพัฒนาต่อเนื่อง] ซึ่ง นบข. ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ได้มี มติเห็นชอบยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. วิสัยทัศน์ คือ ไทยเป็นผู้นำการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก ภายใต้ยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต โดยแบ่งข้าวออกเป็น 7 ชนิด ตามความต้องการของตลาด 3 ประเภท ดังนี้

1) ตลาดพรีเมียม ได้แก่ ข้าวหอมมะลิและข้าวหอมไทย

2) ตลาดทั่วไป ได้แก่ ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวนึ่ง และ

3) ตลาดเฉพาะ ได้แก่ ข้าวเหนียวและข้าวสีหรือข้าวคุณลักษณะพิเศษ

2. ยุทธศาสตร์ข้าวไทย มี 4 ด้าน สรุปได้ ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านการตลาดต่างประเทศ

1.1 ตลาดนำการผลิต เป้าหมาย คือ ประเทศไทยมีชนิดข้าวที่หลากหลายสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

กลยุทธ์ เช่น

1) การจัดทำฐานข้อมูลตลาดข้าวเชิงลึก

2) การเชื่อมโยงข้อมูลแนวโน้มความต้องการของตลาดกับ ภาคการผลิต และ 3) การผลักดันผลผลิตสู่ตลาดเป้าหมาย

1.2 การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานข้าวไทย

เป้าหมาย คือ ข้าวไทยเป็นหนึ่งด้านคุณภาพและมาตรฐาน

กลยุทธ์ เช่น

1) การกำหนดมาตรฐานสินค้าข้าวเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและการพัฒนาพันธุ์ข้าว

2) การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสินค้าข้าวไทย และ 3) การผลักดันให้มีห้องปฏิบัติการของรัฐสำหรับ ตรวจวิเคราะห์สารตกค้างหรือสารปนเปื้อน

1.3 เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโลจิสติกส์เพื่อการส่งออกข้าวไทย เป้าหมาย คือ ลดต้นทุนการส่งออกเพื่อให้แข่งขันได้ กลยุทธ์ เช่น

1) การปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

2) การเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำเพื่อลดต้นทุนการขนส่งข้าว

3) การพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการขนส่ง และ

4) การตรวจรับรองมาตรฐานข้าวตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง

1.4 การส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์

เป้าหมาย คือ เพิ่มโอกาสและช่องทางตลาดของข้าวไทยให้เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง

กลยุทธ์ เช่น

1) การอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคในการส่งออกข้าวไทย

2) การส่งเสริมการค้าข้าวในรูปแบบที่สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของประเทศผู้ซื้อ

3) การเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรข้าวไทย และ

4) การส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ส่งออกข้าวไทยและผู้นำเข้าเพื่อสร้าง ?Brand Loyalty?

2. ยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านการตลาดภายในประเทศ

2.1 ตลาดนำการผลิต

เป้าหมาย เช่น

1) เกษตรกรมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจวางแผนการผลิตข้าวได้ตรงตามความต้องการของตลาด และ

2) มีการจัดชั้นคุณภาพข้าวเปลือก ข้าวสาร เพื่อเป็นเกณฑ์ในระบบการค้า

กลยุทธ์ เช่น

1) การจัดทำฐานข้อมูลความต้องการใช้และบริโภคเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลการส่งออกเป็น Single Demand Base

2) การจัดชั้นคุณภาพข้าวเปลือกและข้าวสาร และ

3) การส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

2.2 เพิ่มประสิทธิภาพระบบการค้าข้าวและยกระดับกลไก การซื้อขายสู่มาตรฐานสากล

เป้าหมาย เช่น

1) มีกระบวนการผลิตข้าวสารที่ได้รับการพัฒนาสู่มาตรฐานสากล และ

2) ผู้ผลิตและผู้ค้าข้าวไทยมีศักยภาพและขีดความสมารถในการแข่งขันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น

กลยุทธ์ เช่น

1) การปรับปรุงกฎระเบียบการค้าข้าวและฐานข้อมูลผู้ประกอบการค้าข้าว

2) การจัดระบบการตรวจรับรองมาตรฐานคุณภาพข้าวสารที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และ

3) การส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตข้าวของโรงสีสู่มาตรฐานสากล

2.3 บริหารสมดุลอุปสงค์อุปทานข้าวและสร้างกลไกป้องกันความเสี่ยงด้านราคา เป้าหมาย เช่น

1) การลดความผันผวนของราคาข้าว ชาวนาได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมคุ้มค่ากับการลงทุน และ

2) กลไกตลาดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการแข่งขันสูงขึ้น

กลยุทธ์ เช่น

1) การสร้างหลักประกันรายได้ให้ชาวนา และ

2) การเพิ่มสภาพคล่องให้กับโรงสีและผู้ค้าข้าวในการดูดซับผลผลิตในช่วงที่ข้าวออกสู่ตลาดมาก

2.4 พัฒนาระบบการเชื่อมโยงและรณรงค์การบริโภค

เป้าหมาย เช่น

1) ชาวนามีความรู้ด้านการตลาดและการสร้าง Brand สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และ

2) การลดปัญหาสภาพคล่องของคู่ค้าในระบบการค้าข้าว

กลยุทธ์ เช่น

1) การจัดทำฐานข้อมูลการผลิตและการใช้ข้าวระดับจังหวัด และ

2) การส่งเสริมการให้ใบประทวนสินค้าข้าวเป็นหลักทรัพย์

3. ยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านการผลิต

3.1 สร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาและองค์กรชาวนาพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้เพียงพอและอยู่ดีมีสุข

เป้าหมาย คือ

1) ชุมชนข้าวมีความเข้มแข็งในระดับมาตรฐาน ไม่น้อยกว่า 10,000 กลุ่ม ในปี 2567 และ

2) มีชาวนาปราดเปรื่อง ปราชญ์ชาวนา และชาวนารุ่นใหม่ ไม่น้อยกว่า 130,000 ราย ในปี 2567

กลยุทธ์ เช่น

1) การยกระดับชาวนาให้เป็นชาวนาปราดเปรื่องและปราชญ์ชาวนา และ

2) การขยายและสร้างศูนย์ข้าวชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตข้าวของชุมชน

3.2 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการผลิตข้าว

เป้าหมาย เช่น

1) ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกแต่ละชนิดเท่ากับ หรือสูง ต่ำกว่าปริมาณความต้องการตลาดไม่เกินร้อยละ 10 ของแต่ละปี และ

2) ต้นทุนการผลิตข้าวทุกชนิด เฉลี่ยไม่เกิน ไร่ละ 3,000 บาท หรือเฉลี่ยไม่เกินตันละ 6,000 บาท ในปี 2567

กลยุทธ์ เช่น

1) การขยายโครงสร้างพื้นฐานการผลิตข้าวโดยเพิ่มแหล่งน้ำในไร่นา จัดรูปแปลงและปรับพื้นที่นา และปรับปรุงบำรุงดินให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวสำคัญ และ

2) การกำหนดเขตส่งเสริมการปลูกข้าวตามศักยภาพของพื้นที่ (Zoning) และ

3) การเพิ่มศักยภาพการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ให้เพียงพอ

3.3 เพิ่มศักยภาพการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าว และเทคโนโลยีการผลิตข้าว

เป้าหมาย เช่น

1) ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ตรงตามความต้องการของตลาด อายุเก็บเกี่ยวสั้น ผลผลิตต่อไร่สูงมาก ไม่น้อยกว่า 12 พันธุ์ ในปี 2567 และ

2) มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการลดต้นทุนการผลิตข้าวและผลผลิตต่อไร่ ไม่น้อยกว่า 10 เทคโนโลยีในปี 2567

กลยุทธ์ เช่น

1) ยกระดับและเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตข้าวให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และ

2) การเสริมสร้างพัฒนาองค์กรวิจัย สนับสนุนงบประมาณ เครื่องมืออุปกรณ์ บุคลากรในการวิจัยข้าวและนักวิจัยรุ่นใหม่

4. ยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว

4.1 การส่งเสริมนวัตกรรมให้ตรงกับความต้องการของตลาด

เป้าหมาย เช่น

1) มีผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าวที่มีการนำงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้และตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น และ

2) มีงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวมีมากขึ้น

กลยุทธ์ เช่น

1) การส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการ และ

2) การส่งเสริมให้มีระบบหรือช่องทางในการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ

4.2 การสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคทราบถึงคุณประโยชน์

เป้าหมาย คือ

ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรับรู้ถึงคุณสมบัติและคุณลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าวเพิ่มมากขึ้น

กลยุทธ์ เช่น

1) การประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว

2) การพัฒนาตลาดเสมือนจริงผ่านช่องทางเว็บไซต์ และ

3) การประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์และคุณสมบัติเฉพาะของผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจาก ข้าวผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

4.3 การส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป้าหมาย คือ การค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าวทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

กลยุทธ์ เช่น

1) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าวผ่านช่องทางออนไลน์ และ

2) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับห้างค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีศักยภาพ

4.4 การอำนวยความสะดวกให้นักวิจัยและผู้ประกอบการ

เป้าหมาย คือ

1) มีแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่พัฒนาผลิตภัณธ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว และ

2) การดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าวเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

กลยุทธ์ เช่น

1) การสนับสุนแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว และ

2) การปรับปรุงกฎระเบียบและขั้นตอนต่าง ๆ รวมทั้งระบบการให้บริการของภาครัฐ ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ