ผลการดำเนินงานตามนโยบายของส่วนราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค)

ข่าวการเมือง Tuesday January 19, 2021 19:40 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการดำเนินงานตามนโยบายของส่วนราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค)

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) เสนอ รายงานผลการดำเนินงาน ตามนโยบายรัฐบาลของส่วนราชการในสังกัด นร. [สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมสตรี (สปน.) กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)] ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (23 มิถุนายน 2563) ที่มอบหมายให้ทุกส่วนราชการจัดทำข้อมูลผลการปฏิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ หรือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเสนอคณะรัฐมนตรี โดย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. สปน.

1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์

  • การจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 ภายใต้การจัดงาน ?ชีวิตวิถีใหม่ใต้ร่มพระบารมี ... เราสร้างไปด้วยกัน? ระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม 2563ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร
  • การจัดงานเฉลิมพระกียรติสมด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2563 ภายใต้การจัดงาน ?วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2563 รักเอยรักลูก? ระหว่างวันที่ 12-14 สิงหาคม 2563 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร
  • การจัดพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลและกิจกรรมน้อมรำลึกเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2562
  • การจัดกิจกรรมน้อมรำลึกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2562
  • การจัดงานวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี 2562 เพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2562

2) การตรวจราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

  • ผู้ตรวจราชการกระทวง/กรม คณะผู้ตรวจราชการได้ร่วมกำหนดและดำเนินการตามแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เช่น การเกษตรสร้างมูลค่า การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และการพัฒนาชุมชนเมือง
  • การตรวจราชการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือข้อร้องเรียนของประชาชนโดยนำกระบวนการ Government Innovation Lab มาปรับใช้ในการดำเนินการ

3) การให้บริการประชาชน

  • สปน. ในฐานะศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลได้รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน จำนวน 140,238 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 99,591 เรื่อง ซึ่งสามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 82,146 เรื่อง (ร้อยละ 82.48) และอยู่ระหว่างดำเนินการ 17,445 เรื่อง (ร้อยละ 17.52) โดยช่องทางการยื่นเรื่องร้องทุกข์มากที่สุด ได้แก่ สายด่วนของรัฐบาล 1111 สำหรับประเภทเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ สังคมและสวัสดิการ

4) จิตอาสาภาครัฐ

  • ผู้แทนรัฐบาลประสานงานโครงการจิตอาสาพระราชทาน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ประสานงานหลักจิตอาสาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมและลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามการดำเนินโครงการจิตอาสาภาครัฐและพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนทั่วประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมปลอดภัย จำนวน 5 ครั้ง รวม 8 โครงการ

5) การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

  • สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดทำ (ร่าง) แผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ? พ.ศ. 2565 และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563-2565 โดยคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนดังกล่าวทั้ง 2 แผนแล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาต่อไป

6) การทำงานร่วมกับภาคประชาชน

  • คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดได้ติดตามการดำเนินแผนงาน/โครงการ และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐในจังหวัด (ข้อมูลรอบ 6 เดือนแรก) จำนวน 403 โครงการ/เรื่อง แล้วแจ้งข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทราบและ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
  • สปน. ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชน ชุดที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) จำนวน 634 คน

7) ภารกิจพิเศษที่รัฐบาลมอบหมาย

  • การติดตามมาตรการและการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์คนร้ายก่อเหตุยิงประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และ การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)

8) การเสริมสร้างประสิทธิภาพภาครัฐ

  • การจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรในระบบตรวจราชการ จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ (1) หลักสูตรผู้ตรวจราชการกระทรวง (2) หลักสูตร ผู้ตรวจราชการกรม และ (3) หลักสูตรผู้ช่วยผู้ตรวจราชการ
  • การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติงานให้กับคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

2. กปส.

1) การเป็นศูนย์ข้อมูลต้นทางของประเทศในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19

  • กปส. เป็นศูนย์ข้อมูลต้นทางของประเทศในการบริหารจัดการศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID - 19 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน 2019 รวมทั้ง มีสถานีวิทยุโทรทัศน์ แห่งประเทศไทย (NB) เป็นแม่ข่ายในการถ่ายทอดการแถลงข่าวไปยังสถานีโทรทัศน์ กปส. ภูมิภาค 4 สถานี
  • การปรับช่อง NBT เป็น COVID Channel ผลิตรายการเพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง
  • การจัดทำประเด็นประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์ของ COVID - 19
  • การจัดทำเพจ Facebook ศูนย์ข้อมูลโควิด -19 ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารเปิดช่องทางการสื่อสารให้แก่ ประชาชนและสื่อมวลชน

2) การบริหารข้อมูลข่าวสารและแก้ไขข่าวปลอม (Fake News)

  • การชี้แจงข่าวปลอมได้ดำเนินการใน 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) ให้ส่วนราชการชี้แจงผ่านกลไกการชี้แจงประเด็นที่ทันต่อสถานการณ์ และ (2) ใช้กลไกจากเครือข่ายเพื่อตรวจสอบและตอบโต้/ชี้แจง Fake News ซึ่งประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว และทันต่อความจำเป็นในการดำเนินชีวิตหรือทันต่อสถานการณ์

3) การควบรวมสถานีโทรทัศน์ NBT ภูมิภาค ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ทั้ง 4 ภูมิภาค

  • การพัฒนาช่องทางสื่อของ กปส ได้แก่ การพัฒนา NBT ภูมิภาค ให้เป็นสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ระดับท้องถิ่น 4 ภูมิภาค (เหนือ อีสาน กลาง และใต้) โดยมีหลักการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ นโยบาย การดำเนินงานภาครัฐข่าวสารประจำวันที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นการเติมเต็มข้อมูลข่าวสารที่สื่อจากส่วนกลางไม่สามารถเสนอได้ โดยการใช้ภาษาถิ่นที่เข้าใจง่าย สร้างความรู้สึกเป็นกันเองใกล้ชิดกับผู้ชม และสามารถส่งข้อมูลถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงตามต้องการ

3. สคบ.

1) การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ

  • การพัฒนาระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค โดยประชาชนสามารถแจ้งเรื่องร้องทุกข์ผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วยตนเอง
  • การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้าน ต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้อง
  • การพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ โดยเป็นต้นแบบในการ นำเครื่องมือทางเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปรับกระบวนงานการไกล่เกลี่ยเป็นรูปแบบออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ร้องเรียน
  • การพัฒนาระบบจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจ

2) การปฏิรูปกฎหมาย

  • การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) ประกาศให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน และร่างประมวลกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการวิเคราะห์ผลดี ผลเสียของการรวบรวมกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคทั้งหมดของประเทศให้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียว
  • การจัดทำแผนพัฒนากฎหมายของ สคบ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2566

3) การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน

  • การจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนที่ไม่ได้รับความป็นธรรมจากการซื้อสินค้าหรือบริการ รวมทั้งการจัดช่องทางการรับเรื่องร้องทุกข์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ ทางไปรษณีย์ และทางเว็บไซต์ www.ocpb.go.th

4) การเสริมสร้างความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

  • การรณรงค์จัดฝึกอบรมสัมมนา เช่น การสัมมนาความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิทัล และกิจกรรมคลินิก สคบ.

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ