1. รับทราบมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2563 (ครั้งที่ 151) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และให้ พน. รับความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) และข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
2. ให้ พน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโครงการนำร่องตามแนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและการกำกับดูแล และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการต่าง ๆ ภายใต้กองทุนฯ และโครงการนำร่องตามแนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และสามารถตรวจสอบได้
กระทรวงพลังงาน (พน.) รายงานว่า ในคราวประชุม กพช. ครั้งที่ 2/2563 (16 พฤศจิกายน 2563) ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติในเรื่องเชิงนโยบายที่สำคัญและได้รับรองมติการประชุมเรียบร้อยแล้ว จำนวน 2 เรื่อง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. แนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
1.1 การประชุม กพช. (16 ธันวาคม 2562)
เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ในช่วงปี 2563 - 2567 ตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ เสนอ และเห็นชอบให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดสรรเงินกองทุนฯ สำหรับใช้จ่ายตามแนวทางดังกล่าวในวงเงิน ปีละ 10,000 ล้านบาท ภายในวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท โดยแบ่งตามสัดส่วนได้ ดังนี้ (1) แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ร้อยละ 50 (2) แผนพลังงานทดแทน ร้อยละ 47 และ (3) แผนบริหารจัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ร้อยละ 3
1.2 การประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ(26 สิงหาคม 2563)
- อนุมัติจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 1,035 โครงการ วงเงิน 2,067 ล้านบาท
- จัดทำประมาณการกระแสเงินสด (Cash Flow) ของกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 2564 - 2567 ณ กันยายน 2563 ดังนี้
(หน่วย : ล้านบาท)
ปีงบประมาณ 2564
รวมรายรับ (1) 26,570
รวมรายจ่าย (2) 14,112
สถานะเงินกองทุนฯ (1) - (2) 12,458
ปีงบประมาณ 2565
รวมรายรับ (1)16,214
รวมรายจ่าย (2) 135
สถานะเงินกองทุนฯ (1) - (2)16,079
ปีงบประมาณ 2566
รวมรายรับ (1) 19,895
รวมรายจ่าย (2) -
สถานะเงินกองทุนฯ (1) - (2) 19,895
ปีงบประมาณ 2567
รวมรายรับ (1)23,768
รวมรายจ่าย (2) -
สถานะเงินกองทุนฯ (1) - (2)23,768
1.3 การปรับปรุงโครงสร้างของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2564
- พน. ได้จัดทำโครงสร้างของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ โดยมีการรวมแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและแผนพลังงานทดแทนเดิม และจัดเป็น 2 แผนใหม่ในวงเงินรวม 6,500 ล้านบาท ได้แก่ แผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน วงเงิน 6,305 ล้านบาท ซึ่งมี 7 กลุ่มงานย่อย อาทิ กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน 500 ล้านบาท กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ 355 ล้านบาท และกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก 2,400 ล้านบาท และแผนบริหารจัดการ ส.กทอ. ในวงเงินรวม 195 ล้านบาท
- ปรับปรุงโครงสร้างเพื่อสนับสนุนการสร้างงานและสร้างรายได้ด้านพลังงานตามมติคณะรัฐมนตรี (12 พฤษภาคม 2563) เรื่อง กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่าง ๆ อาทิ การให้ความสำคัญต่อสาขาเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงมีความได้เปรียบในช่วงหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
- เตรียมความพร้อมผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน ตามกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563
1.4 การประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมครั้งที่ 4/2563(30 ตุลาคม 2563)
มีมติเห็นชอบให้เสนอ กพช. ยกเลิกแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2563 - 2567 และเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2564 ในวงเงิน 6,500 ล้านบาท (ตามข้อ 1.3)
กพช. มีมติ เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ เสนอ (ตามข้อ 1.4) และเห็นชอบให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดสรรเงินกองทุนฯ สำหรับการใช้จ่ายตามแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ตามลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดสรรเงินตามกลุ่มงาน ต่าง ๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ภายในวงเงินดังกล่าว
2. แนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
2.1 พน. ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักการการรับซื้อและเงื่อนไขของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) จากมติ กพช. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 โดยคำนึงถึงการจัดหาวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ โดยมีรายละเอียดเปรียบเทียบได้ ดังนี้
1. ประเภทเชื้อเพลิง
เงื่อนไขเดิม ตามมติ กพช. (16 ธันวาคม 2562)
ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และเชื้อเพลิงแบบผสมผสานร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์
เงื่อนไขใหม่ (โครงการนำร่อง)
ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 25)
2. เป้าหมายการรับซื้อ
เงื่อนไขเดิม ตามมติ กพช. (16 ธันวาคม 2562)
700 เมกะวัตต์
เงื่อนไขใหม่ (โครงการนำร่อง)
150 เมกะวัตต์ (ชีวมวล 75 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์)
3. ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายต่อโครงการ
เงื่อนไขเดิม ตามมติ กพช. (16 ธันวาคม 2562)
ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์
เงื่อนไขใหม่ (โครงการนำร่อง)
1) โรงงานไฟฟ้าชีวมวล ไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ
2) โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ
4. รูปแบบผู้เสนอโครงการ
เงื่อนไขเดิม ตามมติ กพช. (16 ธันวาคม 2562)
ภาคเอกชน หรือภาคเอกชนร่วมองค์กรของรัฐ
เงื่อนไขใหม่ (โครงการนำร่อง)
เฉพาะภาคเอกชน
5. การแบ่งผลประโยชน์
เงื่อนไขเดิม ตามมติ กพช. (16 ธันวาคม 2562)
แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) หุ้นบุริมสิทธิ ร้อยละ 10 ให้กับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า และ (2) ส่วนแบ่งจากรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ในอัตรา 25 สตางค์ต่อหน่วยให้กับกองทุนหมู่บ้านในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า
เงื่อนไขใหม่ (โครงการนำร่อง)
แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) หุ้นบุริมสิทธิ ร้อยละ 10 ให้กับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า และ (2) ผลประโยชน์อื่น ๆ สำหรับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยให้โรงไฟฟ้าและชุมชนทำความตกลงกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม อาทิ ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค และด้านการศึกษา
6. วิธีการคัดเลือกโครงการ
เงื่อนไขเดิม ตามมติ กพช. (16 ธันวาคม 2562)
ใช้การประเมินคุณสมบัติขั้นต้นและให้คะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคและด้านผลประโยชน์คืนสู่ชุมชน
เงื่อนไขใหม่ (โครงการนำร่อง)
ใช้วิธีแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding)
2.2 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติ (11 พฤศจิกายน 2563) เห็นชอบให้ดำเนินโครงการนำร่อง โดยมีหลักการการรับซื้อและเงื่อนไข (ตามข้อ 2.1) และมีเงื่อนไขเพิ่มเติมอื่น ๆ อาทิ
หลักการการรับซื้อและเงื่อนไข
1. เป้าหมายการรับซื้อ 150 เมกะวัตต์ โดยกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA, Power Purchase Agreement) แบ่งเป็น (1) เชื้อเพลิงชีวมวล ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เป้าหมายการรับซื้อ 75 เมกะวัตต์ และ (2) เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 25) ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เป้าหมายการรับซื้อ 75 เมกะวัตต์
2. เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT
3. วิธีการคัดเลือกโครงการ จะพิจารณาข้อเสนอขอขายไฟฟ้าทางด้านเทคนิคและด้านราคา ดังนี้ (1) ด้านเทคนิค อาทิ ความพร้อมด้านเทคโนโลยี พื้นที่มีระบบสายส่งรองรับ เชื้อเพลิง พื้นที่ปลูก การบริหารน้ำ และปัจจัยอื่น ๆ รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร (ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคจะได้รับการพิจารณาด้านราคาต่อไป) และ (2) ด้านราคา (Competitive Bidding) โดยผู้ยื่นเสนอโครงการจะต้องเสนอส่วนลดในส่วนของ FiT คงที่ ซึ่งเป็นส่วนของค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงไฟฟ้า
4. โครงการที่ยื่นขอขายไฟฟ้าต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาผูกพันกับภาครัฐ
5. มีแผนการจัดหาเชื้อเพลิงในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องระบุข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่ (1) ปริมาณการรับซื้อพืชพลังงาน (2) ระยะเวลาการรับซื้อพืชพลังงาน (3) คุณสมบัติของพืชพลังงาน และ (4) ราคารับซื้อพืชพลังงาน โดยพืชพลังงานที่จะนำมาใช้จะต้องได้มาจากการปลูกโดยวิสาหกิจชุมชน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกรบริเวณใกล้เคียงอย่างน้อยร้อยละ 80 และผู้ประกอบการสามารถจัดหาเองได้ไม่เกินร้อยละ 20
2.3 กพช. มีมติเห็นชอบหลักการการรับซื้อและเงื่อนไขโครงการโรงไฟฟ้านำร่อง เงื่อนไขใหม่ (ตามข้อ 2.2) และมอบหมายให้ กกพ. ไปดำเนินการออกระเบียบหรือประกาศการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และดำเนินการคัดเลือกตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) มอบหมายให้ กบง. พิจารณา
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2564