ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา

ข่าวการเมือง Tuesday January 19, 2021 20:21 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) เพิ่มเติม

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ดังนี้

1. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 โดยปรับกรอบงบประมาณโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) จากวงเงิน 6,049.72 ล้านบาท เป็นวงเงิน 6,216.25 ล้านบาท โดยเพิ่มงบประมาณในส่วนการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคีกับบริษัท AstraZeneca จาก 2,379.4306 ล้านบาท เป็น 2,545.9606 ล้านบาท เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในการดำเนินงานดังกล่าว

2. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจ่ายเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม วงเงิน 166,530,000.- บาท ภายใต้โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca)

สาระสำคัญ/ข้อเท็จจริง

กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) วงเงิน 6,049,723,117.- บาท และคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบโครงการดังกล่าวและอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายใต้โครงการข้างต้น วงเงิน 2,379.43 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าว ดำเนินการภายใต้นโยบายไม่สร้างกำไรและไม่ขาดทุน (No profit, no loss) ทำให้ราคาของวัคซีนคำนวณตามต้นทุนที่ใช้ในการวิจัย พัฒนาและผลิตเท่านั้น โดยในการเจรจาตกลงราคาเป็นราคาสุทธิของวัคซีน ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7 ของมูลค่าวัคซีนที่จอง และตามสัญญาจองวัคซีนล่วงหน้า (Advance Market Commitment Agreement) กำหนดว่า ราคาที่กำหนดนั้นไม่รวมภาษีทางอ้อม ประกอบกับหนังสือกรมสรรพากร ด่วนที่สุด ที่ กค 0702/พ.104 ลงวันที่ 7 มกราคม 2564 กรมสรรพากรแจ้งให้ทราบว่า ผู้ขายมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 และมาตรา 82 แห่งประมวลรัษฎากร และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในฐานะผู้ซื้อสินค้าจึงต้องถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ของมูลค่าฐานภาษี ตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากร และกรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายยกเว้นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจึงไม่อาจยกเว้นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้ได้แต่อย่างใด

กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจ่ายเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7.0 ของมูลค่าวัคซีนที่จอง ในวงเงิน 166,530,000.- บาท

สำนักงบประมาณแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 166,530,000.- บาท เพื่อจ่ายเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7.0 ของมูลค่าวัคซีนที่จอง

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ