ผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 26 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)

ข่าวการเมือง Tuesday January 19, 2021 20:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 26 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) และให้ความเห็นชอบการมอบหมายหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 26 และผลการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

สาระสำคัญ ดังนี้

1. การพิจารณารายงานของที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 26

1.1 ที่ประชุมเห็นชอบรายงานการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 26 และรับทราบผลการดำเนินการต่างๆ เช่น (1) ผลการดำเนินงานภายใต้แผนงาน IMT-GT ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในอนุภูมิภาคและลดความเหลื่อมล้ำ และความยากจนลง (2) ผลการประชุมเพื่อรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งได้หารือถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อแผนงาน IMT-GT และแนวทางการพลิกสถานการณ์ภายหลังการระบาดให้เป็นโอกาส (3) ผลการทบทวนการดำเนินการภายใต้แผนดำเนินงานระยะ 5 ปี 2560-2565 ภายใต้วิสัยทัศน์ 2579 ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์แล้วกว่าร้อยละ 77.3 และเร่งรัดการดำเนินการโครงการที่เหลือให้แล้วเสร็จภายใน ปี 2564 พร้อมทั้งย้ำให้มีการประเมินผลกระทบและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่จะเสนอใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและความท้าทายในปัจจุบัน (4) ความก้าวหน้าของความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เช่น เครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT สภาธุรกิจ IMT-GT ธนาคารพัฒนาเอเชีย และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน โดยมีโครงการสำคัญ เช่น การผลักดันการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกใน การดำเนินโครงการต่างๆ ของทุกคณะทำงานและการศึกษาแนวทางการพัฒนาความร่วมมือเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่แผนงาน IMT-GT

1.2 การดำเนินการในระยะต่อไป ที่ประชุมเห็นชอบให้เร่งรัดการเปิดตัวแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ IMT-GT และการลงนามในกรอบความตกลงด้านพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และ การตรวจโรคพืชและสัตว์ ภายในปี 2564 การพัฒนาระบบนิเวศฮาลาลที่ครอบคลุมผ่านกลยุทธ์ความร่วมมือ ด้านอุตสาหกรรมฮาลาลตลอดจนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันในนุภูมิภาคและเสริมสร้างการทำงานร่วมกันข้ามสาขาความร่วมมือ

1.3 ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไป ได้แก่ (1) เร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ เพื่อช่วยยกระดับการค้าข้ามพรมแดนพัฒนาห่วงโซ่คุณค่า และสนับสนุนการเคลื่อนย้าย คนภายในอนุภูมิภาค (2) ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถของ อนุภูมิภาค IMT-GT ในอุตสาหกรรมหลัก เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและฮาลาล โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และรายย่อยอย่างครอบคลุมและทั่วถึง (3) สนับสนุนความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 (4) ส่งเสริมการพัฒนาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อให้การดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ และ (5) มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมแผนดำเนินงานระยะห้าปี 2565-2569 ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนแผนงาน IMT-GT ในระยะต่อไป

2 การพิจารณารายงานของที่ประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 17 (1) ความคืบหน้าของโครงการความร่วมมือภายใต้แผนงาน IMT-GT ที่เกี่ยวกับกรอบการประชุมระดับมุขมนตรีและ ผู้ว่าราชการจังหวัด เช่น กรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและสภาเทศมนตรีสีเขียว (2) ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย) มาเลเซีย และประเทศไทย (ไทย) และ (3) การสนับสนุนความก้าวหน้าของสภาธุรกิจ IMT-GT ในการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจ

3. การพิจารณารายงานของธนาคารพัฒนาเอเชีย (1) การทบทวนและประเมินการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ โดยเสนอให้ปรับโครงสร้างระเบียงเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับบทบาทของจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและเกิดความเชื่อมโยงระหว่างกัน เพื่อให้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นเครือข่ายซึ่งจะช่วยยกระดับการเข้าถึงทรัพยากรและตลาดสินค้าและบริการในอนุภูมิภาค รวมทั้งให้เปลี่ยนชื่อระเบียงเศรษฐกิจซึ่งจากเดิมใช้ชื่อจังหวัดหรือรัฐที่เป็นจุดเชื่อมต่อ เป็นการเรียกชื่อตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เช่น จากเดิม ระเบียงเศรษฐกิจสงขลา-ปีนัง-เมดาน เป็น ระเบียบเศรษฐกิจไทยตอนใต้-มาเลเซียตอนเหนือ-สุมาตราตอนเหนือ และ (2) ผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาความร่วมมือเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่แผนงาน IMT-GT ซึ่งเสนอให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการทำงานร่วมกับผ่านการสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียว และเสริมกลยุทธ์ความร่วมมือด้วยการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของแต่ละเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุน ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นควรใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาเรื่องการทบทวนและประเมินการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจและแนวทาง การพัฒนาความร่วมมือ เขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่แผนงานของธนาคารพัฒนาเอเชียในการขับเคลื่อนอนุภูมิภาคอย่างยั่งยืน

4. การดำเนินการเกี่ยวกับ โควิด-19 ของไทย รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ของไทยได้นำเสนอผลการดำเนินงานเพื่อบรรเทาและฟื้นฟูผลกระทบจาก โควิด-19 ในปัจจุบัน เช่นโครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการ คนละครึ่ง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และลดภาระ ค่าของชีพของประชาชนรวมทั้งเน้นย้ำในเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่จะสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของ โควิด-19 และการให้ความสำคัญกับการลงทุนที่เป็น มิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

5. แถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 26 ที่ประชุมได้เห็นชอบแถลงการณ์ โดยมี การปรับปรุงเพิ่มเติมให้มีเนื้อหาที่มีความถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้นแต่ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาและสาระสำคัญตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563

6. มาเลเซียจะรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 27 และการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้องแผนงานในปี 2564 ณ รัฐกลันตัน มาเลเซีย

ความร่วมมือภายใต้แผนงาน IMT-GT เป็นกรอบยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งยกระดับชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนการดำเนินงาน ตามยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกันระหว่างอนุภูมิภาคและภายในประเทศ ดังนั้น จึงเห็นควรมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมผลักดันการขับเคลื่อนและบูรณาการกิจการต่างๆ เช่น กิจการตามผลการทบทวนและประเมินการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจของธนาคารพัฒนาเอเชียและการทบทวนระยะกึ่งกลางแผนของแผนดำเนินงานระยะห้าปี ปี 2560 - 2564 พร้อมทั้งร่วมกันพิจารณาแนวทางในการขับเคลื่อนการจัดทำและดำเนินการตามแผนงาน IMT-GT ในแผนห้าปี ปี 2565-2569 โดยพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อม เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 บทบาทของเศรษฐกิจดิจิทัลและความสามารถในการปรับตัวของวิสาหกิจต่าง ๆ ใน IMT-GT

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ