คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 17 ทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1) ร่างปฏิญญาอังการา 2) ร่างแผนงานกรอบความร่วมมือเอเชีย ค.ศ. 2021 ? 2030 และ 3) ร่างหลักการจัดตั้งสำนักเลขาธิการถาวรของกรอบความร่วมมือเอเชีย ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
1. ร่างปฏิญญาอังการา เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกในการขับเคลื่อนความร่วมมือในทวีปเอเชียเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน การเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเน้นย้ำความสำคัญของการปฏิบัติตามวิสัยทัศน์เอเชีย ค.ศ. 2030 (Asia Vision 2030) ของกรอบความร่วมมือเอเชีย การสนับสนุนภาคธุรกิจและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนการยกระดับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ดิจิทัล การศึกษา สาธารณสุข การค้า การขนส่งและความเชื่อมโยง
2. ร่างแผนงานกรอบความร่วมมือเอเชีย ค.ศ. 2021 ? 2030 เป็นเอกสารที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนความร่วมมือในแต่ละเสาให้มีทิศทางมากขึ้น กล่าวคือ (1) ด้านความเชื่อมโยง เน้นการสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในทุกมิติให้ครอบคลุมทั้งทวีปเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนภายในเอเชีย (Intra ACD trade) (2) ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เน้นการส่งเสริมขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และการพัฒนาต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์และการใช้ดาวเทียมเพื่อเตือนภัยธรรมชาติ เป็นต้น (3) ด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เน้นการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและการสร้างโอกาสการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดในศตวรรษที่ 21 (4) ด้านอาหาร พลังงาน และความมั่นคงด้านน้ำ เน้นการส่งเสริมความเชื่อมโยงการสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน และการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (5) ด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เน้นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน และการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (6) ด้านการส่งเสริมแนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม เน้นการเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองและการสร้างความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ เช่น โรคโควิด-19 และการร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาและขจัดความยากจน
3. ร่างหลักการจัดตั้งสำนักเลขาธิการถาวรของกรอบความร่วมมือเอเชีย เป็นเอกสารกำหนดขอบเขตภารกิจ โครงสร้างองค์กร แนวทางการบริหารงาน และการจัดสรรงบประมาณสำหรับสำนักเลขาธิการถาวรของกรอบความร่วมมือเอเชีย โดยสาระสำคัญหลักเน้นเรื่องแนวทางการแต่งตั้งและขอบเขตหน้าที่ของเลขาธิการ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2564