ร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday January 26, 2021 19:03 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. .... ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว โดยเป็นการกำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนให้ชัดเจน เพื่อประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้าและให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบความคืบหน้าของกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวกและรวดเร็ว

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

กำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมดังต่อไปนี้ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กรมพระธรรมนูญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาล องค์กรอัยการ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้

1. กำหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกำหนดกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จในการพิจารณาเรื่องในขั้นตอนต่าง ๆ ของการดำเนินคดี แต่ทั้งนี้จะให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการอำนวยความยุติธรรมหรือการดำเนินการโดยสุจริตของบุคคลใดไม่ได้ ไม่ว่าทางใด

2. กำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจัดให้มีระบบติดตามตรวจสอบหรือแจ้งความคืบหน้าของการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบโดยจะต้องเป็นระบบที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวกและรวดเร็ว

3. กำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจัดให้มีผู้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะเพื่อรับเรื่องร้องเรียนในกรณีที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากความล่าช้าในการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม และให้ผู้รับผิดชอบดังกล่าวมีหน้าที่ตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินงาน และแจ้งผลการตรวจสอบ รวมทั้งเหตุแห่งความล่าช้าไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกครั้ง

4. กำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติระยะเวลาของการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมในแต่ละขั้นตอน วัดผลการดำเนินงานเทียบกับขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินงานตามที่กำหนดไว้ในกรอบระยะเวลา พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้ประชาชนทราบทุกปี

5. กำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ว่าเป็นขั้นตอนและระยะเวลาที่เหมาะสมตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรม ตลอดจนวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือไม่ ในกรณีที่เห็นว่าขั้นตอนและระยะเวลาดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรให้มีมาตรการเพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงหน่วยงานหรือระบบการปฏิบัติราชการของหน่วยงานโดยเร็ว ซึ่งอย่างน้อยต้องดำเนินการทุกสามปี

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ