1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยเพิ่มเติมมาตรการควบคุมอาหารเพื่อควบคุมอาหารตามระดับความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือผลกระทบต่อผู้บริโภค เพิ่มหมวดกระบวนการพิจารณาอนุญาตอาหาร กำหนดมาตรการในการควบคุมการโฆษณาอาหารกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อทำหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาอนุญาตอาหาร และแก้ไขบทกำหนดโทษและอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน รายละเอียด ดังนี้
1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
2. ยกเลิกบทนิยามคำว่า อาหารควบคุมเฉพาะ ตำรับอาหาร และโรงงาน และเพิ่มเติมนิยามคำว่า วัตถุสัมผัสอาหาร เอกสารกำกับอาหาร ข้อความ โฆษณา สถานที่ กระบวนการพิจารณาอนุญาตอาหาร และอาหาร เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
3. กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดกลุ่มอาหาร ได้แก่ อาหารควบคุมเฉพาะ อาหารควบคุม และอาหารจดแจ้ง กำหนดอาหารที่ต้องประเมินความปลอดภัย และกำหนดหลักเกณฑ์การใช้วัตถุสัมผัสอาหาร การจำหน่ายอาหาร การขนส่ง และการโฆษณา
4. แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการอาหารให้สอดคล้องกับการแก้ไขอำนาจของรัฐมนตรีในการกำหนดกลุ่มอาหาร และแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่ง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติฉบับอื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
5. กำหนดให้สถานที่ผลิตอาหารต้องขอใบอนุญาตผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใบอนุญาตและการขอผ่อนผัน การขอต่อใบอนุญาต
6. เพิ่มหมวด 2/1 กระบวนการพิจารณาอนุญาต
6.1 กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีอำนาจขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่ในการประเมินเอกสารทางวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ หรือการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหาร
6.2 กำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหารมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
6.3 กำหนดให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดอัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุดและค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดและค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาอนุญาตอาหาร
6.4 กำหนดให้ค่าขึ้นบัญชีและค่าใช้จ่ายที่จัดเก็บตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นเงินของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และให้ใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ตามที่กำหนด
7. กำหนดให้ผู้รับอนุญาตผลิตเพื่อการส่งออกต้องจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับอาหารนั้นให้ผู้อนุญาต และต้องจัดเก็บเอกสารหรือหลักฐานเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ รวมทั้งกำหนดห้ามจำหน่ายอาหารเพื่อการส่งออกในราชอาณาจักร
8. กำหนดการควบคุมอาหารเสื่อมคุณภาพ แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของอาหารปลอมและอาหารผิดมาตรฐาน และแก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของผู้อนุญาตเกี่ยวกับการออกคำสั่งเพื่อควบคุมอาหารและประกาศผลให้ประชาชนทราบ
9. กำหนดมาตรการควบคุมอาหารในแต่ละกลุ่ม โดยกำหนดให้อาหารเฉพาะต้องขึ้นทะเบียน อาหารควบคุมต้องแจ้งรายการ และอาหารจดแจ้งต้องจดแจ้ง และกำหนดการขอรับใบแทนใบสำคัญของอาหารดังกล่าว รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการและการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใบสำคัญการจดแจ้ง รวมทั้งกำหนดมาตรการในการควบคุมการโฆษณาอาหาร กำหนดหลักเกณฑ์การโฆษณา และกำหนดให้การโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารต้องได้รับใบอนุญาต
10. แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการยึดหรืออายัดอาหาร ภาชนะบรรจุ หรือวัตถุสัมผัสอาหารที่มีเหตุสงสัยว่าอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค อาหารไม่บริสุทธิ์ อาหารปลอม อาหารผิดมาตรฐาน หรืออาหารเสื่อมคุณภาพ
11. กำหนดให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งทำลายหรือดำเนินการสิ่งที่ยึดหรืออายัดไว้ตามระเบียบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ รวมทั้งกำหนดให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตครั้งละไม่เกิน 120 วัน หรือกรณีที่มีการฟ้องร้องต่อผู้รับอนุญาตต่อศาลว่าได้กระทำความผิด และมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตในกรณีผู้รับอนุญาตกระทำความผิดหรือผู้รับอนุญาตได้กระทำความผิดและเคยสั่งพักใช้ใบอนุญาตซึ่งกระทำผิดนั้นอีกภายใน 3 ปี นับแต่ถูกพักใช้ใบอนุญาต
12. กำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดกรณีที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน และแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษตามระดับการควบคุมอาหารในแต่ละกลุ่มเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันยิ่งขึ้น รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติ
13.บทเฉพาะกาล
13.1 กำหนดให้ใบอนุญาตผลิตอาหารที่ออกตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และยังมีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ
13.2 กำหนดให้คำขออนุญาต คำขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร คำขอประเมินเอกสารวิชาการ หรือคำขอใด ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือเป็นคำขอตามพระราชบัญญัตินี้ และหากมีคำขอดังกล่าวแตกต่างไปจากคำขอตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมคำขอให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ได้
13.3 กำหนดให้ดำเนินการออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรี
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2564