คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอดังนี้
1. ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การกำหนดสถานะกลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553 (เรื่อง ขออนุมัติหลักเกณฑ์การกำหนดสถานะกลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล)
2. หลักเกณฑ์การกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลที่อพยพเข้ามาและอาศัยอยู่มานาน (หลักเกณฑ์ฯ) เพื่อใช้ทดแทนหลักเกณฑ์ตามข้อ 1
สาระสำคัญของเรื่อง
การดำเนินการกำหนดสถานะบุคคลกลาง / จำนวนประมาณ (คน)
กลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 1,170,000
ได้รับการกำหนดสถานะให้อาศัยอยู่ในไทยอย่างถาวรแล้ว 820,000
คงเหลือต้องพิจารณากำหนดสถานะ แบ่งเป็น 2 ส่วน 400,000
1. กลุ่มผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ไม่ได้เกิดในไทยและรัฐบาลได้สำรวจจัดทำทะเบียนไว้ในอดีตภายใต้การอนุมัติของคณะรัฐมนตรี [ไม่รวมกลุ่มที่เกิดในไทยซึ่งจะได้รับการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี (7 ธันวาคม 2559)] 350,000
2. กลุ่มที่ตกหล่นจากการจัดทำทะเบียนประวัติตามมติคณะรัฐมนตรีในอดีตแต่ได้รับการจัดทำทะเบียนภายใต้พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ตามข้อ 2.1) 50,000
2.1 การจัดทำทะเบียนประวัติให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ตกหล่นตามมาตรา 19/2 และมาตรา 38 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบด้วย 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่อ้างว่าตกสำรวจแต่มีภูมิลำเนาต่อเนื่องในประเทศไทยและไม่มีสถานะตามกฎหมาย และ (2) กลุ่มคนไร้รากเหง้า โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่อ้างว่ามีปัญหาสถานะและสิทธิที่มีภูมิลำเนาชัดเจนและอาศัยอยู่ในไทยต่อเนื่องสามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนและรับบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0) เพื่อแสดงตัวตนก่อนพิจารณาสถานะต่อไป
2.2 การแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลของเด็กนักเรียน นักศึกษา และบุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในราชอาณาจักรไทยตามมติคณะรัฐมนตรี (7 ธันวาคม 2559) โดย มท. ได้เสนอหลักเกณฑ์ซึ่งแก้ไขปัญหาผู้มีปัญหาสถานะบุคคลที่เกิดในประเทศไทยเป็นกรณีเร่งด่วน โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญ คือ ให้บุตรของคนที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรไทย และอาศัยอยู่เป็นเวลานาน ครอบคลุมกลุ่มชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่อง 15 ปี นับตั้งแต่วันจดทะเบียนประวัติ และให้ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป
3. สมช. จัดทำหลักเกณฑ์ฯ ขึ้นโดยยึดกรอบหลักการเดิมตามมติคณะรัฐมนตรี (7 ธันวาคม 2553) แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบางประการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน รวมถึงสอดคล้องกับความมั่นคงและผลประโยชน์ของประเทศ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
กลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
กลุ่มหลัก 1. กลุ่มผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ไม่ได้เกิดในไทยและรัฐบาลได้สำรวจจัดทำทะเบียนไว้ในอดีต
กลุ่มย่อย
ประกอบด้วย 4 กลุ่มย่อย
- กลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นเวลานาน (ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม)
- กลุ่มเด็กและบุคคลที่ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรไทยและกำลังเรียนอยู่ในสถานศึกษา/จบการศึกษาแล้ว แต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย
- กลุ่มคนไร้รากเหง้าที่ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรไทย
- กลุ่มบุคคลที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศที่ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรไทย
กลุ่มหลัก 2. กลุ่มที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติตามมาตรา 19/2 (ผู้ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติ) และมาตรา 38 วรรคสอง (คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้) แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
กลุ่มย่อย
ประกอบด้วย 2 กลุ่มย่อย
- กลุ่มย่อยทั้ง 4 กลุ่มข้างต้นที่เข้ามาอาศัยในราชอาณาจักรไทยภายในวันที่ 18 มกราคม 2548 แต่ตกหล่นจากการสำรวจจัดทำทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรี (7 ธันวาคม 2553) ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลในอดีต
- กลุ่มอื่น ๆ ยกเว้นผู้หลบหนีเข้าเมือง กลุ่มเปราะบางต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
หลักเกณฑ์ทั่วไป
เช่น
- มีภูมิลำเนาและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอมีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย
- มีชื่อในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ และมีเลขประจำตัว 13 หลัก
- มีความจงรักภักดีต่อประเทศไทยและเลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- มีความประพฤติดีและไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของไทย ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด ไม่เคยรับโทษคดีอาญา ยกเว้นความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ
- หากได้รับโทษในคดีอาญา ต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันที่ยื่นคำร้อง เว้นแต่โทษในคดียาเสพติดฐานเป็นผู้ค้าหรือผู้ผลิตให้ขยายระยะเวลาจาก 5 ปี เป็นไม่น้อยกว่า 10 ปี
- ประกอบอาชีพสุจริตโดยมีใบอนุญาตทำงานหรือหนังสือรับรองจากนายอำเภอท้องที่ ยกเว้นเด็กที่มีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ พระภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาอื่น ซึ่งต้องปฏิบัติกิจมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และคนพิการ (แล้วแต่กรณี)
หลักเกณฑ์เฉพาะกลุ่ม
กลุ่มย่อย
กลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นเวลานาน (ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม)
ตัวอย่างหลักเกณฑ์ฯ
- ไม่สามารถกลับประเทศต้นทาง/ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใด ๆ กับประเทศต้นทาง
- สามารถพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจได้
กลุ่มย่อย
กลุ่มเด็กและบุคคลที่ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรไทยและกำลังเรียนอยู่ในสถานศึกษาหรือจบการศึกษาแล้วแต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ตัวอย่างหลักเกณฑ์ฯ
- สำเร็จการศึกษาภาคบังคับหรือเทียบเท่าจากโรงเรียน หรือสถานศึกษาในไทยที่กระทรวงศึกษาธิการให้การรับรอง
- ไม่ปรากฏหลักฐานการมีและใช้สัญชาติอื่น
กลุ่มย่อย
คนไร้รากเหง้าที่ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรไทย
ตัวอย่างหลักเกณฑ์ฯ
- มีหนังสือรับรองความเป็นคนไร้รากเหง้าจากหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมาย หรือขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานสงเคราะห์กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- ได้รับการศึกษาตามหลักสูตรที่ทางราชการไทยกำหนด หรือสามารถพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจได้ ยกเว้นกรณีคนพิการที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ทางการสื่อสารทางจิตใจ และทางพฤติกรรม
กลุ่มย่อย
บุคคลที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศที่ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรไทย
ตัวอย่างหลักเกณฑ์ฯ
- เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศ โดยมีผลงานหรือความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ เช่น การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
- มีหน่วยงานราชการระดับกรมหรือเทียบเท่ากรม ที่เกี่ยวข้องรับรองคุณประโยชน์และผลงาน
กลุ่มย่อย
กลุ่มอื่น ๆ ในกลุ่มหลักที่ 2
ตัวอย่างหลักเกณฑ์ฯ
- ไม่เคยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
- สามารถพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจได้ ยกเว้นเป็นผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ผู้ป่วยติดเตียง คนวิกลจริต คนพิการทางการได้ยิน หรือคนไร้ที่พึ่งที่อยู่ในการสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐ
- มีพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือให้การรับรองความประพฤติ
หมายเหตุ ให้กรมการปกครองกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยของบุคคลดังกล่าวให้เหมาะสม สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของประเทศ
4. ในการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ (ตามข้อ 3) และมอบหมายให้ สมช. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2564