คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอแนวทางการกำหนดมูลค่าแผนงานและโครงการพัฒนาตามมาตรา 20 (8) แห่งพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 (พระราชบัญญัติสภาพัฒนาฯ พ.ศ. 2561) ตามมติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ดังนี้
1. การลงทุนแผนงาน/โครงการพัฒนาของส่วนราชการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท และไม่ได้ใช้แหล่งเงินจากเงินงบประมาณ โดยการลงทุนจะใช้จ่ายจากแหล่งเงิน อาทิ เงินกู้ การให้เอกชนร่วมลงทุน และแหล่งเงินอื่น ๆ เห็นควรมอบหมายให้ส่วนราชการ โดยความเห็นชอบของกระทรวงเจ้าสังกัด จัดทำข้อเสนอแผนงาน/โครงการที่มีรายละเอียดครบถ้วนเพียงพอเสนอให้ สศช. พิจารณาก่อนเสนอสภาพัฒนาฯ เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
2. การลงทุนแผนงาน/โครงการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจ เห็นควรให้รัฐวิสาหกิจโดยความเห็นชอบของกระทรวงเจ้าสังกัดต้องจัดทำงบลงทุนเต็มตามโครงการจัดส่งให้ สศช. พิจารณาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2550 อย่างเคร่งครัด
สาระสำคัญของเรื่อง
กรณี
1.1 การลงทุนของส่วนราชการ (ทั้งดำเนินการเองและให้เอกชนร่วมลงทุน)
แนวปฏิบัติ
ส่วนราชการที่คาดว่าจะใช้จ่ายจากแหล่งเงินกู้และได้จัดส่งข้อเสนอการลงทุนให้ สศช. พิจารณา สศช. จะดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์โครงการเสนอสภาพัฒนาฯ และนำความเห็นของสภาพัฒนาฯ ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
1.2 การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ (ทั้งในส่วนที่รัฐวิสาหกิจดำเนินการและให้เอกชนร่วมลงทุน)
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2550กำหนดให้รัฐวิสาหกิจต้องจัดทำงบลงทุนเต็มตามโครงการเสนอให้ สศช. พิจารณา โดย สศช. จะจัดทำรายงานการวิเคราะห์โครงการเสนอสภาพัฒนาฯ
- ในกรณีที่เป็นการลงทุนที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป สศช. จะนำความเห็นของสภาพัฒนาฯ ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
- ในกรณีที่เป็นการลงทุนที่มีวงเงินต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท สศช. จะแจ้งให้กระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
2.1 การกำหนดมูลค่าแผนงานและโครงการพัฒนาของส่วนราชการที่ไม่ได้ใช้แหล่งเงินจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ได้แก่ เงินกู้ การให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) และแหล่งเงินอื่น ๆ เช่น เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางของกรมทางหลวง เป็นต้น นั้น สภาพัฒนาฯ เห็นว่า แนวนโยบายของรัฐได้มีการสนับสนุนให้ส่วนราชการพิจารณาแนวทางเลือกของแหล่งเงินที่ใช้ในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ใช่เงินงบประมาณแผ่นดินเพิ่มขึ้นเพื่อลดภาระงบประมาณ ในขณะที่กลไกการพิจารณาในปัจจุบันยังไม่ได้กำหนดให้มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสมของโครงการ ดังนั้น เพื่อให้การเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาแผนงานและโครงการพัฒนาของส่วนราชการที่ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณของคณะรัฐมนตรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรกำหนดให้ส่วนราชการที่จะดำเนินการในแผนงานและโครงการพัฒนาที่มีวงเงินลงทุนมากกว่าหรือเท่ากับ 5,000 ล้านบาทและใช้จ่ายจากแหล่งเงินที่ไม่ใช่เงินประมาณแผ่นดินจัดทำข้อเสนอแผนงานและโครงการพัฒนาให้ สศช. พิจารณาก่อนเสนอสภาพัฒนาฯ เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
2.2 การลงทุนแผนงานและโครงการพัฒนาของส่วนราชการที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกลไกการพิจารณาแผนงานและโครงการพัฒนาของส่วนราชการที่ใช้เงินงบประมาณมีสำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ดังนั้น ในกรณีที่เป็นการใช้จ่ายจากแหล่งเงินงบประมาณแผ่นดิน จึงเห็นควรให้ สศช. ทำหน้าที่ในการพิจารณาเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์เสนอเรื่องให้สภาพัฒนาฯ พิจารณา (ยกเว้นในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้สภาพัฒนาฯ พิจารณาเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษ)
2.3 การลงทุนแผนงานและโครงการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจให้ดำเนินการตามแนวทางปัจจุบัน (ตามข้อ 1.2)
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2564