ขออนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ข่าวการเมือง Tuesday January 26, 2021 20:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้

1. อนุมัติงบประมาณสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภายในวงเงิน 198,891.7894 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สำหรับงบประมาณบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) วงเงิน 2,203.1086 ล้านบาท นั้น มอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ตามความจำเป็น เหมาะสม ประหยัด และสอดคล้องกับภารกิจการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

2. มอบหมายให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินการและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขในด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี บริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน การสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับบุคคลในพื้นที่ และบริการสาธารณสุขสำหรับบริการกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในส่วนบริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อ ตามมาตรา 18 (14) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และควบคุมดูแล สปสช. ให้บริหารกองทุนฯ ให้เป็นไปตามการมอบหมายดังกล่าว

สาระสำคัญของเรื่อง

รายการบริการภายใต้งบกองทุนฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 11 รายการ สรุปได้ดังนี้ 1. ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 2. ค่าบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 2.1 ค่าบริการรักษาฯ 2.2 ค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี 3. ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 4. ค่าบริการเพื่อควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง 4.1 ค่าบริการเพื่อควบคุมป้องกันและรักษาผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง 4.2 ค่าบริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน 5. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 6. ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน 7. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว (ทีม PHC) 7.1 ค่าบริการด้วยทีม PHC 7.2 ค่าบริการรับยาที่ร้านยา 7.3 ค่าบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล 7.4 ค่าบริการสาธารณสุขระบบทางไกล 7.5 ค่าบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน 8. ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับ อปท. 9. ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับบริการกรณีโรคโควิด 19 10. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการ 11. ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ทั้งนี้ ข้อเสนองบกองทุนฯ ที่ขอรับจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ปรับความชัดเจนของขอบเขตและการเข้าถึงบริการ รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อยกระดับหลักประกันสุขภาพในประเด็นหลักต่าง ๆ ดังนี้

1. การยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยให้ผู้มีสิทธิสามารถเข้ารับบริการกับแพทย์ประจำครอบครัวที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ โรคมะเร็งไปรับริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม (ไปรับบริการที่หน่วยบริการใกล้บ้าน/ไม่ต้องรอคิวนานที่มีความพร้อมในการให้การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีฉายรังสีหรือเคมีบำบัด) รวมถึงบริการกัญชาทางการแพทย์แผนไทย

2. เน้นยุทธศาสตร์ เรื่อง ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเพื่อการวางแผนครอบครัว [ภายใต้ยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ (พ.ศ. 2558 ? 2562)] และการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหาวัณโรคใน 7 กลุ่มเสี่ยง[1][ตามยุทธศาสตร์ End TB Strategy ขององค์การอนามัยโลก โดยตั้งเป้าหมายลดอัตราการเกิดวัณโรคให้ต่ำกว่า 10 : 100,000 ประชากรโลกภายในปี 2578]

3. สิทธิประโยชน์ใหม่ จำนวน 13 รายการ เช่น การผ่าตัดปลูกถ่ายตับในผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะกลางและระยะท้าย การตรวจคัดกรองยีนส์ HLA-B*5801 ก่อนเริ่มยา Allopurinol ในผู้ป่วยโรคเกาต์ เพิ่มรายการอุปกรณ์ Extracorporeal Membrane Oxygenator (ECMO) ในการรักษาภาวะหัวใจ/ปอดล้มเหลวเฉียบพลัน การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคทุกกลุ่มเสี่ยงด้วยวิธีเอกซเรย์ปอดและ Molecular Assay การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด และบริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เป็นต้น

4. เพิ่มการเข้าถึงบริการนอกหน่วยบริการ (อยู่ในรายการค่าบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิฯ) ได้แก่ (1) บริการคลินิกพยาบาลและการผดุงครรภ์ และคลินิกกายภาพบำบัด (2) การตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล (เช่น ตรวจเลือด) (3) ค่าบริการสาธารณสุขทางไกล (Telehealth/Telemedicine) ผ่าน Application และ (4) การจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์

[1] 7 กลุ่มเสี่ยงวัณโรค ได้แก่ 1. ผู้สัมผัสร่วมบ้านกับผู้ป่วย 2. ผู้ต้องขังในเรือนจำ 3. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 4. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวีหรือกินยากดภูมิ 5. ผู้ป่วยเบาหวาน 6. ผู้สูงอายุ และ 7. แรงงานข้ามชาติ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ