คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอสรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2563 มาตรา 7 (6) ที่บัญญัติให้ กพต. มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
รายงานความคืบหน้าการดำเนินการจัดสรรโควตาพลังงานไฟฟ้า 1,700 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการพัฒนาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562
มติ กพต.
รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการจัดสรรโควตาพลังงานไฟฟ้าฯ โดยกระทรวงพลังงาน (พน.) จะได้มีการกำหนดการประชุมคณะทำงานพิจารณากรอบแนวทางการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหารือรายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นการจัดสรรโควตาพลังงานไฟฟ้าให้มีความชัดเจนต่อไป
โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีเร่งด่วน และการจัดทำปะการังเทียมพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดชายแดนภาคใต้
มติ กพต.
- เห็นชอบในหลักการโครงการฯ จำนวน 622 ลำในปีงบประมาณพ.ศ. 2564 - 2565 และอนุมัติกรอบงบประมาณสนับสนุนโครงการฯ ไม่เกิน 1,424.6638 ล้านบาท โดยให้ ศอ.บต. กรมประมง กรมเจ้าท่า และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ
- เห็นชอบสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในวงเงินไม่เกิน 844.2649 ล้านบาท เพื่อดำเนินการพื้นที่จังหวัดปัตตานี เป็นความเร่งด่วนลำดับแรก จำนวน 304 ลำ และเรือเป้าหมายตามข้อเสนอของสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี โดยนำไปใช้ประโยชน์จัดทำปะการังเทียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเล จังหวัดปัตตานี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ส่วนเรือที่เหลือของพื้นที่จังหวัดสงขลา สตูล และนราธิวาส รวม 318 ลำ ให้ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยให้ ศอ.บต. กรมประมง กรมเจ้าท่า และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต่อไป
แผนปฏิบัติการช่วยเหลือและพัฒนาแรงงานไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลุ่มที่เดินทางกลับจากต่างประเทศภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
มติ กพต.
- เห็นชอบแผนปฏิบัติการฯ เพื่อให้เป็นแผนปฏิบัติการที่ทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนงานร่วมกันในลักษณะบูรณาการทุกระดับในระยะต่อไป
- ให้คณะกรรมการ กพต. ทุกท่าน จากกระทรวงต่าง ๆ และให้ ศอ.บต. เร่งประสานเพิ่มเติมไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ พน. เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลประกอบการจัดทำโครงการ/กิจกรรมให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการฯ ตามที่ กพต. ได้ให้ความเห็นชอบด้วยแล้ว โดยอาจพิจารณาปรับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม และงบประมาณที่ได้รับจัดสรรตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และงบประมาณจากแหล่งเงินกู้ตามกฎหมายของรัฐบาล เพื่อให้การสนับสนุนแผนปฏิบัติการฯ และจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565เพื่อรองรับการทำงานกลุ่มเป้าหมายที่คงเหลือต่อไป ทั้งนี้ ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องดำเนินการแก้ไข เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 จำนวน 5,000 คน (เดือนธันวาคม 2563 - มีนาคม 2564) ระยะที่ 2 จำนวน 5,000 คน (เดือนเมษายน 2564 - กันยายน 2564) และระยะที่ 3 จำนวน 7,000 คน (เดือนตุลาคม 2564 - มีนาคม 2565) ทั้งนี้ ให้กรรมการ กพต. ทุกท่าน พิจารณาสั่งการให้กระทรวง กรม ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับเร่งจัดส่งข้อมูลให้ ศอ.บต. เป็นการด่วนที่สุดเพื่อประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ที่สมบูรณ์และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายข้างต้น เพื่อจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาตามลำดับต่อไป
- ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ศอ.บต. และสำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแหล่งงบประมาณจากแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดำเนินการตามการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2564