คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2563 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
1.1 ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
สาระสำคัญ
- คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 ธันวาคม 2563) เห็นชอบแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 ซึ่งรวมถึงแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ไปสู่การปฏิบัติ เช่น ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) ใช้แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ทั้ง 23 ประเด็น และแผนในระดับที่ 2 เป็นกรอบจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และให้หน่วยงานของรัฐใช้ในการจัดทำโครงการ/การดำเนินงานเพิ่มเติมจากโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563) ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 ธันวาคม 2563) เห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณของ สงป. ด้วยแล้ว
- คณะรัฐมนตรีมีมติ (15 ธันวาคม 2563) เห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน... เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และ สศช. อยู่ระหว่างจัดทำคู่มือที่มีความชัดเจนและเข้าใจง่ายเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีทราบ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป
- ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีแผนระดับที่ 3 ที่ส่งให้ สศช. พิจารณารวมทั้งสิ้น 108 แผน แบ่งเป็น (1) ผ่านกระบวนการพิจารณาและรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว จำนวน 70 แผน (2) อยู่ระหว่าง สศช. พิจารณากลั่นกรอง 25 แผน และ (3) ยกเลิกการดำเนินการ 2 แผน ทั้งนี้ มีแผนที่ผ่านกระบวนการพิจารณาในรอบเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 รวม 11 แผน เช่น (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563-2565 (ฉบับปรับปรุง) และ (ร่าง) นโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2563-2565 ทั้งนี้ สศช. อยู่ระหว่างประสานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ในการพิจารณาทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการเสนอร่างกฎหมายต่าง ๆ ในอนาคต เพื่อมิให้มีบทบัญญัติให้หน่วยงาน/คณะกรรมการต้องเสนอแผนต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่จำเป็น
1.2 ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ
สาระสำคัญ
- คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 ธันวาคม 2563) เห็นชอบแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนแผนดังกล่าว โดย สศช. ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศสู่การปฏิบัติ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 โดยมีผู้แทนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักร่วมกันจัดทำรายละเอียดแผนการขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดทำแผนขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ และนำเสนอคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนมกราคม 2564
1.3 ผลการดำเนินการอื่น ๆ
สาระสำคัญ
- คณะรัฐมนตรีมีมติ (15 ธันวาคม 2563) รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563) และ สศช. อยู่ระหว่างนำเรื่องนี้เสนอรัฐสภาทราบ ทั้งนี้ การรายงานความคืบหน้าฯ ตั้งแต่รอบเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 สศช. จะเร่งจัดทำรายงานโดยเร็วหลังจากสิ้นสุดแต่ละไตรมาส เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและรายงานรัฐสภาทราบ โดยในส่วนของการรายงานรอบเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 จะรายงานตามแผนการปฏิรูป (ฉบับปรับปรุง) ที่เป็นการรายงานเฉพาะ Big Rock ตามแผนการปฏิรูปฉบับปรับปรุง เพื่อให้เนื้อหาสาระของรายงานมีความเป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป
- ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยการตรวจสอบการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) พบว่า หน่วยงานต่าง ๆ ได้นำข้อมูลเข้าระบบ ประกอบด้วย (1) โครงการ/การดำเนินงานประจำปี 2563 ซึ่งต่อเนื่องจากปี 2562 รวมทั้งสิ้น 64,086 โครงการ และ (2) แผนระดับที่ 3 รวมทั้งสิ้น 672 แผน นอกจากนี้ สศช. ได้พัฒนาและต่อยอดระบบ eMENSCR เพื่อใช้สำหรับการรายงานผลการดำเนินกการตามแผนขับเคลื่อน Big Rock เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับต่าง ๆ รวมทั้งจะได้นำการรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวมาใช้ในการรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ต่อไป
- อยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (Super eMENSCR) เพื่อสนับสนุนการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ผ่านการวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และการเชื่อมโยงชุดข้อมูลสถิติและสถานการณ์ของหน่วยงานรัฐ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผลและมีการรายงานการติดตามประเมินผลการบรรลุเป้าหมายต่อสาธารณะเป็นประจำ
- สร้างการตระหนักรู้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและพลังความคิดสร้างสรรค์ในกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา โดยรูปแบบการวาดภาพด้วยเทคนิคดิจิทัลอาร์ตเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการคิดและมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพวาด 2 ครั้ง ณ จังหวัดนครปฐมและกรุงเทพมหานคร
2. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ
สาระสำคัญ
ประเด็นท้าทายที่มีความเสี่ยงสูงในการบรรลุเป้าหมาย คือ การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เกิดทักษะและความสามารถเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องต่อเนื่องตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อันจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนจนต่อไป ทั้งนี้ สศช. จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทยจัดประชุมศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2564