เรื่อง การขอรับความเห็นชอบต่อร่างกรอบความร่วมมือเพื่อพัฒนาความพร้อมด้านดิจิทัลสำหรับพลเมืองอาเซียน (Framework for Developing Digital Readiness among ASEAN Citizens)
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบต่อร่างกรอบความร่วมมือเพื่อพัฒนาความพร้อมด้านดิจิทัลสำหรับพลเมืองอาเซียน (Framework for Developing Digital Readiness among ASEAN Citizens) และอนุมัติให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนของประเทศไทยรับรองร่างกรอบความร่วมมือฯ ในที่ประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 15 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ หากมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำของร่างกรอบความร่วมมือดังกล่าวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญ หรือที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) โดยกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
(กปส. แจ้งว่า เบื้องต้นสำนักเลขาธิการอาเซียนได้แจ้งเวียนประเทศสมาชิกอาเซียนว่าจะมีการรับรองร่างกรอบความร่วมมือฯ ในที่ประชุมฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564)
ร่างกรอบความร่วมมือฯ จะเป็นเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมฯ ที่แสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนในการมุ่งเน้นให้แต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนใช้ร่างกรอบความร่วมมือฯ เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ประเด็นที่จำเป็นในการพัฒนาความพร้อมด้านดิจิทัลแก่ประเทศสมาชิกอาเซียน ภายใต้ 3 แนวคิดหลัก ดังนี้
1. แนวคิดหลัก ประกอบด้วย 3 แนวคิด
1.1) การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล
- ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น ความพร้อมในการเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (เช่น คอมพิวเตอร์ และแล็ปท็อป) ควรทำให้คนทุกกลุ่มโดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และคนพิการ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การมีโครงการสนับสนุน เช่น การให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไม่มีค่าใช้จ่ายหรือราคาย่อมเยา ยังเป็นแนวทางที่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสเพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัล
1.2) ทักษะความเข้าใจและเทคโนโลยีดิจิทัล
- ประเทศสมาชิกอาเซียนควรกำหนดทักษะพื้นฐานทางดิจิทัลที่ประชาชนจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา โดยผ่านการฝึกอบรมขั้นพื้นฐาน
- พลเมืองอาเซียนควรมีความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นของความปลอดภัยในโลกออนไลน์ และการปกป้องตนเองจากภัยออนไลน์และการโจมตีทางไซเบอร์
1.3) การมีส่วนร่วมทางดิจิทัล
- บริษัทต้องออกแบบเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่มีความครอบคลุมและเป็นมิตรต่อผู้ใช้ รวมทั้งรัฐบาลต้องผลักดันการใช้ดิจิทัลในองค์กรระดับชุมชน ธุรกิจ และองค์กรภาครัฐต่าง ๆ เพื่อการให้บริการทางดิจิทัลที่ครอบคลุมทุกกลุ่มคน
2. ประโยชน์สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน
- พัฒนาขีดความสามารถของพลเมืองอาเซียนในการเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัล
- ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ด้านดิจิทัล เช่น ข่าวปลอม
- สนับสนุนธุรกิจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ
3. ระยะเวลาดำเนินการ
- ร่างกรอบความร่วมมือฯ มิได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการหรือกลไกในการติดตามความคืบหน้า เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการกำหนดแนวทางของแต่ละประเทศสมาชิก
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2564