คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 17 - 20 พฤศจิกายน 2563 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (17 พฤศจิกายน 2563) เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประขุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องรวม 4 ฉบับ] โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 มีสาระสำคัญ เช่น
1.1 การเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG)
- การเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าในลักษณะสองประเทศภายใต้ APG มีทั้งหมด 16 โครงการ ดำเนินการเสร็จแล้วจำนวน 7,720 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแผนแม่บทโครงการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าอาเซียน ระยะที่ 3 ให้สอดรับกับเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณพลังงานหมุนเวียนและรองรับการซื้อขายไฟฟ้าในระดับพหุภาคีในอนาคต
- เห็นชอบให้มีการขยายโครงการบูรณาการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประเทศไทย (ไทย) สหพันธรัฐมาเลเซีย (มาเลเซีย) และสาธารณรัฐสิงคโปร์ (สิงคโปร์)
1.2 การเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน
- การก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อเชื่อมต่อการส่งก๊าซธรรมชาติข้ามพรมแดน จำนวน 13 แห่ง รวมจำนวนที่สามารถผลิตได้ 38.75 ล้านตันต่อปี
- ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการแบ่งปันองค์ความรู้และยกระดับความสามารถทางเทคนิคแก่คณะรัฐมนตรีอาเซียนด้านปิโตรเลียม
1.3 ถ่านหินและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด
เห็นชอบการจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศด้านถ่านหินอาเซียนเพื่อรวบรวมข้อมูลและสถิติที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินเป็นประจำทุกปีและการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศแห่งอาเซียนด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด
1.4 ประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน
- เห็นชอบการเพิ่มเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงานลงในปี 2568 จากเดิมร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 32 โดยคำนึงถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการใช้พลังงานในภูมิภาค
- การสร้างมาตรฐานเดียวกันของระบบเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ส่องสว่างซึ่งจะช่วยให้ประหยัดพลังงานและส่งผลต่อการลดความเข้มการใช้พลังงานลงให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด
1.5 พลังงานหมุนเวียน
- อาเซียนสามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนได้ร้อยละ 13.9 และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าที่ร้อยละ 26.8
- เห็นชอบการเพิ่มปริมาณสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคให้ได้ร้อยละ 23 ภายในปี 2568 และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในกำลังการผลิตติดตั้งระบบสายไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 35 ภายในปี 2568
1.6 นโยบายและแผนพลังงานของภูมิภาค
- รับทราบสรุปรายงานฉบับสมบูรณ์ของแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียนระยะที่ 1 พ.ศ. 2559 - 2563
- เห็นชอบแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2 พ.ศ. 2554 - 2568 ซึ่งได้จัดทำเสร็จแล้ว
1.7 พลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน
รับทราบการดำเนินงานภายใต้เครือข่ายความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ โดยมุ่งเน้นการสร้างขีดความสามารถของบุคลากรประเทศสมาชิกอาเซียน
1.8 การรับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38
ที่ประชุมได้รับรองถ้อยแถลงร่วมฯ ซึ่งเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563
2. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานบวกสาม [สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลี) และญี่ปุ่น] ครั้งที่ 17
2.1 ที่ประชุมมุ่งเน้นความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงาน ตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานสะอาดเพื่อผลักดันอาเซียนไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2
2.2 รับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานบวกสาม ครั้งที่ 17 ซึ่งเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563
3. การประชุมรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สาธารณรัฐอินเดีย นิวซีแลนด์ เครือรัฐออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสหพันธรัฐรัสเซีย) ครั้งที่ 14
3.1 รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินกิจกรรม ดังนี้ 1) ประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน 2) การเพิ่มเชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่งและวัตถุประสงค์อื่น ๆ และ 3) การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกและการหารือถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อด้านพลังงานในกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ ประเทศคู่เจรจาได้เสนอข้อริเริ่มด้านเทคโนโลยีพลังงานที่สำคัญแก่ประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น การกักเก็บพลังงาน และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน
3.2 รับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 14 ซึ่งเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563
4. การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 6 ได้มีการหารือในประเด็นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่เชื้อเพลิงพลังงานสะอาดผ่านกรอบความร่วมมือและการสนับสนุนให้อาเซียนสามารถรับมือกับความท้าทายด้านพลังงานได้ทันต่อเหตุการณ์ โดยมีการกำหนดกิจกรรมความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการด้านพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2 ต่อไป
5. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานกับทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ครั้งที่ 4 ได้หารือเกี่ยวกับแนวโน้ม อนาคต และความท้าทาย ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดของโลก ซึ่งเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานสะอาดในปัจจุบันได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พลังงานสะอาดมีราคาถูกลงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีการใช้พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่มากกว่าพลังงานสิ้นเปลืองอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ทบวงพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศได้นำเสนอทิศทางของแผนปฏิบัติการและความก้าวหน้าในการปฏิบัติการภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนกับทบวงพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยรองรับความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอาเซียนให้ไปสู่เป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนร้อยละ 23 ภายในปี 2568 รวมทั้งได้นำเสนอแผนสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและแผนการจัดกิจกรรมระดับภูมิภาคเพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในภูมิภาค เป็นต้น
6. การหารือทวิภาคีและพหุภาคีอื่น ๆ
6.1 การประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานของโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์
6.1.1 เห็นชอบการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงทางเทคนิคและการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดน
6.1.2 รับรองถ้อยแถลงร่วมโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563
6.2 การประชุมหารือทวิภาคีกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา)
ไทยได้เสนอแนวทางสนับสนุนการพัฒนาด้านไฟฟ้าในเมียนมาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับทั้งสองประเทศและสามารถส่งเสริมนโยบายของไทยในการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต เช่น โครงการเชื่อมโยงจุดซื้อขายไฟฟ้าแม่สอด-เมียวดี โครงการลงทุนปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าในกรุงย่างกุ้ง การเสนอให้เมียนมาพิจารณาจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านพลังงานและด้านไฟฟ้าระหว่างไทย-เมียนมาฉบับใหม่เพื่อทดแทนฉบับเดิม และการแสวงหาโอกาสในการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีระหว่าง สปป.ลาว-ไทย-เมียนมา ในอนาคต ทั้งนี้ เมียนมาได้เชิญชวนให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงทุนในแหล่งปิโตรเลียม A6 ในเมียนมาด้วย
7. การประชุมภาคธุรกิจพลังงานอาเซียน ประจำปี 2563 ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน และการค้าการลงทุนด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต รวมถึงได้มีการประกาศรางวัลพลังงานอาเซียน ซึ่งไทยมีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 28 รางวัล
8. บทบาทของไทยในการประชุม
8.1 แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้น อาเซียนควรให้ความสำคัญในการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการ การมีเสถียรภาพ มีราคาที่หาซื้อได้และยั่งยืน และสามารถก้าวข้ามสถานการณ์ดังกล่าวไปด้วยกัน ทั้งนี้ ไทยมีการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจากพลังงานหมุนเวียน โครงการนำร่องปริมาณรับซื้อเบื้องต้น 150 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและศักยภาพการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น
8.2 นำเสนอนโยบายและการพัฒนาพลังงานของไทยให้ที่ประชุมทราบโดยยินดีที่จะส่งเสริมการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแบบพหุภาคีในอาเซียนเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงทางพลังงานในภูมิภาคและสนับสนุนความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือพลังงานอาเซียนในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2564