คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการประชุมฯ ไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไป ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลระหว่างวันที่ 16-20 พฤศจิกายน 2563 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ภาพรวม มาเลเซียกำหนดหัวข้อหลักของการประชุม คือ ?การใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพมนุษย์เพื่ออนาคตที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและมุ่งสู่ความรุ่งเรืองร่วมกัน การปรับเปลี่ยน การจัดลำดับความสำคัญ ความก้าวหน้า? โดยมีประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ (1) การพัฒนาบริบทของการค้าและการลงทุน (2) การมีส่วนร่วมที่ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี และ (3) การขับเคลื่อนความยั่งยืนรูปแบบใหม่ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่สำคัญรวม 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ปฏิญญาผู้นำเขตเศษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 (ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ ค.ศ. 2020) (2) วิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. 2040และ (3) ถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 31 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 (ตามข้อ 2)
2. บทบาทของประเทศไทย (ไทย) นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอปค ครั้งที่ 2 และร่วมกล่าวปาฐกถาแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ ?บทบาทอาเซียนในอนาคตของเอเปค? นอกจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญ สมะลาภา) ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 31 โดยไทยเห็นความ จำเป็นของการผลักดัน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในทุกมิติ โดยเฉพาะในด้านดิจิทัล (2) การเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน ทุกภาคส่วนของสังคมได้รับประโยชน์ที่จับต้องได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เน้นความสำคัญของการเข้าถึงเงินทุนและเตรียมความพร้อมให้แก่วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-sized Enterprises: MSMES) แรงานในภาคบริการ สตรี และคนหนุ่มสาว และ (3) การสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ยึดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีให้ประชาชน โดยมุ่งขจัดความยากจน รวมทั้งเห็นว่า แนวทางความร่วมมือในอาเซียนและเอเปคสามารถสนับสนุนและส่งเสริมซึ่งกันและกันได้
3. ผลประโยชน์ที่ไทยได้รับ ประกอบด้วย
3.1 ผลประโยชน์ด้านการรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เช่น การช่วยเหลือนักธุรกิจและ MSMEs การสนับสนุนการเพิ่มการเข้าถึงยา เวชภัณฑ์และสินค้าที่จำเป็นของประชาชน การย้ำเจตนารมณ์การเคารพกฎระเบียบการค้าพหุภาคีและการให้สิทธิพิเศษแก่นักธุรกิจ โดยไทยได้เปิดให้นักธุรกิจจาก 10 เขตเศรษฐกิจเอเปค ได้แก่ นิวซีแลนด์ เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ มาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ใช้บัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปคในการเดินทางเข้าไทยได้แล้ว
3.2 ผลประโยชน์จากนโยบายที่เอเปคผลักดัน ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตและเข้าถึงตลาดโลก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ การส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากแผนบทลาเซเรนาเพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม
4. ที่ประชุมหารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชีย-แปชิฟิก ได้แก่
การร่วมมือกันต่อสู้ บรรเทา และฟื้นฟูภูมิภาคจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
สาระสำคัญ
เร่งรัดการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และราคาเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้า เวชภัณฑ์ บริการด้านการแพทย์และบุคลากรที่จำเป็น
อนาคตของเอเปคภายหลังการสิ้นสุดของเป้าหมายโบกอร์
สาระสำคัญ
ย้ำความสำคัญของการสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้างมีพลวัต พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและมีสันติภาพ ภายใน ค.ศ. 2040 การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต้องเข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืนและครอบคลุม
การส่งเสริมการค้าและการลงทุนเสรีเปิดกว้าง เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติโปร่งใส และคาดการณ์ได้
สาระสำคัญ
ยึดมั่นต่อกฎระเบียบทางการค้าภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี และส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยเฉพาะ เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก และความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน
การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล
สาระสำคัญ
ส่งเสริมให้ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รับมือและป้องกันภัยด้านสุขภาพ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดยพัฒนาทักษะให้ประชาชน โดยเฉพาะสตรี เยาวชน กลุ่มเปราะบางทางสังคม และ MSMEs นอกจากนี้ ควรสร้างสภาพแวดล้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ปลอดภัย เปิดกว้างเข้าถึงได้ และปรับปรุงกฎระเบียบที่มีอยู่ให้สอดคล้องกัน
การสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและยั่งยืน
สาระสำคัญ
เน้นความสำคัญของความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ขยะทะเล และภัยฉุกเฉินต่าง ๆ การอนุรักษ์จัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยย้ำความสำคัญของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง
5. มาเลเซียได้ส่งมอบตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคให้แก่นิวซีแลนด์ โดยนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ประกาศหัวข้อหลักการเป็นเจ้าภาพ คือ ?ร่วมกัน ทำงาน และเติบโตไปด้วยกัน? โดยจะเน้นประเด็นการค้าและการลงทุนเป็นหลักเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิของชนกลุ่มน้อย และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือผลักดันให้ประสบความสำเร็จ
6. การเตรียมการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 ในช่วงที่ผ่านมาไทยได้รับหน้าที่สำคัญในกรอบเอเปค เช่น ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล สำหรับการประชุมเอเปคประจำ 2564 และ 2565และประธานคณะกรรมการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการสำหรับการประชุมเอเปคประจำปี 2564 และสำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยใน 2565 ทั้งนี้ ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 เป็นยุคปกติใหม่ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก ไทยสามารถส่งเสริมประเด็นสาธารณสุขที่ไทยได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเด็นความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร (บทบาทการเป็นผู้ผลิตอาหารให้แก่โลก) และการส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โครงข่ายเศรษฐกิจดิจิทัลและอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ เพื่อให้มีการนำผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น การต่อสู้และบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 การส่งเสริมการค้าการลงทุน การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี และการดำเนินการตามวาระใหม่เพื่อการปฏิรูปโครงสร้างเอเปค จึงมีประเด็นที่ต้องมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2564