แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: FinTech)

ข่าวการเมือง Tuesday February 2, 2021 18:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 เพื่อยกเลิกการใช้เงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตามความในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. 2558 จำนวน 650 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน (Institute for Financial Innovation and Technology: InFinIT) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า

1. กค. ได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech โดยเฉพาะเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบัน InFinIT เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นในภาคการเงิน (FinTech Startups) และพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech ในประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานระหว่างสถาบันการเงินภาครัฐ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินผ่านการจัดตั้งมูลนิธิฯ ซึ่งพบว่า ปัจจุบัน การดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech ของประเทศไทยถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็วด้วยการผลักดันของภาครัฐ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน สรุปได้ ดังนี้

ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

1) ภาครัฐ

การดำเนินการที่สำคัญ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น

  • พัฒนาและส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรม FinTech ดังนี้

(1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงิน (ดำเนินการโดย กค.) ได้แก่ ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) เช่น บริการพร้อมเพย์ (Promptpay) การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดการใช้เงินสด ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ e-Payment ของภาครัฐ เพื่อการรับเงิน ชำระเงิน และนำส่งเงินของหน่วยงานภาครัฐ และระบบฐานข้อมูล และระบบการรับจ่ายเงินเพื่อสวัสดิการสังคม

(2) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Identification Platform) รวมทั้งพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 [ดำเนินการโดย กค. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง]

(3) กำหนดกรอบนโยบายหลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริการ FinTechสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ตลอดจนผลักดันให้มีกระบวนการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และร่วมกับสถาบันการเงินจัดกิจกรรมพัฒนา FinTech Startups เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่มีความน่าเชื่อถือและสามารถนำมาปรับใช้ได้จริง [ดำเนินการโดยธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.)]

2) สถาบันการเงินของรัฐ

การดำเนินการที่สำคัญ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น

  • พัฒนาศูนย์นวัตกรรมของสถาบันการเงินของรัฐที่มีรูปแบบเหมือน InFinIT ดังนี้

(1) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง (Krungthai Innovation Lab) เพื่อเป็นศูนย์กลางแนวหน้าในการขับเคลื่อน FinTech ของภาคอุตสาหกรรมและดำเนินการสนับสนุนโครงการภาครัฐ เช่น National e-Payment Digital Identification Platform เป็นต้น และจัดตั้งบริษัทวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการให้บริการด้านการพัฒนานวัตกรรมและโครงสร้างดิจิทัลต่าง ๆ รวมถึงผลักดันโครงสร้างดิจิทัลพื้นฐานของประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลได้ เช่น แอปพลิเคชันเป๋าตัง เป็นต้น

(2) ธนาคารออมสินมีแนวทางการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม (Innovation Lab) ให้เป็นศูนย์การสร้างสรรค์และพัฒนา FinTech สำหรับผลิตภัณฑ์บริการและช่องทางการให้บริการ รวมถึงการสนับสนุนและร่วมเป็นพันธมิตรกับ FinTech Startups ที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับความต้องการรูปแบบบริการทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ มีแผนการจัดตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ ?Innovation Club by GSB Startups? ร่วมกับสถาบันการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการส่งเสริมบุคลากรที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์และดำเนินธุรกิจโดยใช้ FinTech เป็นเครื่องมือ

  • สถาบันการเงินของรัฐ 8 แห่ง* รวมตัวเป็นสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (สมาคมฯ) เพื่อสนับสนุนและดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และพันธกิจของสมาชิก รวมถึงสร้างความพร้อมและความร่วมมือระหว่างสมาชิกทางด้านการเงินการธนาคาร ซึ่งสมาคมฯ สามารถเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech Ecosystem) ของประเทศไทยได้

3) ภาคเอกชน

การดำเนินการที่สำคัญ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น

  • ส่งเสริมความร่วมมือพัฒนา FinTech Startups โดยการรวมตัวกันของภาคเอกชนในการจักตั้งสมาคมฟินเทคประเทศไทย สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่
  • พัฒนาศูนย์ส่งเสริม FinTech ของตัวเอง เพื่อส่งเสริมและร่วมเป็นพันธมิตรกับ FinTech Startups เช่น บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด จัดตั้งศูนย์นวัตกรรม True Digital เป็นต้น
  • หมายเหตุ : สถาบันการเงินของรัฐ 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

2. จากการดำเนินการของทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech ของประเทศไทย (ตามข้อ 1) ที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง และสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรม FinTech ได้แล้ว ดังนั้น เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานของรัฐ ลดระยะเวลา และลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินการในเรื่อง การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech ของประเทศไทย กค. เห็นควรทบทวนแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech โดยยกเลิกโครงการจัดตั้งสถาบัน InFinIT และยกเลิกการใช้เงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตามความในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. 2558 จำนวน 650 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบัน InFinIT ที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติไว้ (4 กันยายน 2561)

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ