คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (พ.ศ. 2563 ? 2565) [(ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ] และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อน (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. วธ. (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) ได้ดำเนินการทบทวนนโยบายและยุทธศาสตร์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย พ.ศ. 2560 - 2564 ตามการจำแนกระดับของแผนตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 และได้ปรับปรุงนโยบายและยุทธศาสตร์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็น ?แผนปฏิบัติการด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (พ.ศ. 2563 - 2565)? ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ได้พิจารณาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 และมีมติให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ แล้ว โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น
(1) ควรปรับปรุงวิสัยทัศน์ให้มีความชัดเจนและครอบคลุมถึงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยทั้งระบบและการกำหนดเป้าหมายในการนำทุนทางวัฒนธรรมของไทยมาพัฒนาต่อยอดและปรับให้เหมาะสม
(2) ควรกำหนดแผนการดำเนินการในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีการบูรณาการและเชื่อมโยงกับ หลายหน่วยงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(3) ควรส่งเสริมการผลิตและพัฒนาทักษะบุคลากรทางด้านงานสร้างสรรค์และวัฒนธรรมร่วมสมัยให้มีคุณภาพและเพียงพอกับความต้องการของผู้ประกอบการ
(4) ควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อน โดยภาครัฐควรเป็นเพียงผู้สนับสนุนหรือผู้อำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดการต่อยอดทุน ทางศิลปวัฒนธรรมและสามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้เพิ่มมากขึ้น
(5) ควรให้ความสำคัญกับการต่อยอดศิลปวัฒนธรรมไทยร่วมสมัยให้เกิดเป็น Creative Culture และ
(6) ควรมีการติดตามและประเมินผลแผนปฏิบัติ การฯ ในช่วงที่ผ่านมา และกำหนดตัวชี้วัดให้สามารถบ่งชี้ถึงผลลัพธ์จากการดำเนินงาน รวมทั้งขอบเขตการวัดผลที่ชัดเจน เป็นต้น
2. วธ. (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ตามข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาฯ โดยคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ แล้ว
3. (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น
1. วิสัยทัศน์
สาระสำคัญ
ประเทศไทยเป็นศูนย์บูรณาการการเรียนรู้และความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยทั้งระบบ เพื่อต่อยอดสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์
2. พันธกิจ
สาระสำคัญ
2.1 พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยและประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัล
2.2 ส่งเสริมพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ
2.3 สนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์
2.4 บูรณาการความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศให้ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทยมีบทบาทในเวทีโลก
3. วัตถุประสงค์
สาระสำคัญ
3.1 เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ตระหนักถึงคุณค่างานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
3.2 เพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้รับการส่งเสริมครอบคลุมทุกมิติ และให้กลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาต่อยอดจากทุนทางวัฒนธรรมในทุกระดับ ทั้งระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ตลอดจนถึงระดับนานาชาติ
3.3 เพื่อยกระดับการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จากพื้นฐานของศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทย
3.4 เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทยไปทั่วโลกเป็นการส่งเสริมทัศนะเชิงบวกต่อประเทศไทย รวมถึงเป็นการสร้างความเข้าใจและการยอมรับภาพลักษณ์ และความนิยมไทยในสากลด้วยอำนาจแบบนุ่มนวลของไทย
4. เป้าหมาย
สาระสำคัญ
ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาจิตใจ สร้างพลังทางสังคม และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมายในระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 - 2565) ดังนี้
4.1 อัตราการขยายตัวของมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม
4.2 ระบบฐานข้อมูลเทคโนโยดิจิทัลด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ
4.3 ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างเป็นรูปธรรม
5. ตัวชี้วัดหลัก
สาระสำคัญ
5.1 การนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5
5.2 เปิดให้บริการหอศิลป์แห่งชาติที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค จำนวน 1 แห่ง
5.3 เปิดให้บริการ Big Data ระบบศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านวัฒนธรรม จำนวน 1 ระบบ
5.4 จำนวนภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10
6. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
สาระสำคัญ
6.1 มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จากการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
6.2 คนทุกช่วงวัยมีความรู้ความเข้าใจศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสามารถต่อยอดพัฒนา ภูมิปัญญาผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ และนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อการพัฒนาทักษะสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21
6.3 พื้นที่และแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้รับการส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม
6.4 การบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยใน การขับเคลื่อนและทำงานร่วมกัน เกิดผลลัพธ์ตอบสนองต่อเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม
4. ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ตัวอย่างกิจกรรม/โครงการที่จะดำเนินการ และกรอบวงเงินงบประมาณจากงบดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้
ยุทธศาสตร์
1. ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการวิจัย องค์ความรู้ นวัตกรรม ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ประกอบด้วย 37 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาระบบข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม โครงการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เป็นต้น
หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร เป็นต้น
ปี 2563/619.69
ปี 2564/2,071.91
ปี 2565/658.04
2. ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมให้มีการพัฒนาพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อการเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ประกอบด้วย 34 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาระบบนิเวศการท่องเที่ยว โครงการพัฒนากลุ่มท่องเที่ยวมรดกโลก และโครงการศูนย์สร้างสรรค์และพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไทย เป็นต้น
หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กรมศิลปากร องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เป็นต้น
ปี 2563/510.16
ปี 2564/2,151.16
ปี 2565/754.64
3. ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่สร้างคุณค่าทางจิตใจ สังคม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการบนฐานของทุนทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย 42 โครงการ เช่น โครงการส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการตลาด โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมและความเป็นไทย เป็นต้น
หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยกรมการพัฒนาชุมชน วธ. (กรมการศาสนา) เป็นต้น
ปี 2563/2,043.52
ปี 2564/2,390.07
ปี 2565/2,184.96
4. ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมความร่วมมือภาคีเครือข่าย
ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยทั้งในและต่างประเทศบนฐานมรดกทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย 17 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรมและนำความเป็นไทยสู่สากล โครงการเผยแพร่แลกเปลี่ยนศิลปะร่วมสมัย โครงการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับมิตรประเทศและองค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น
หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) วธ. สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นต้น
ปี 2563/5,346.11
ปี 2564/5,453.25
ปี 2565/5,382.54
รวมทั้งสิ้น
ปี 2563/8,519.48
ปี 2564/12,066.39
ปี 2565/8,980.08
5. การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ สรุปได้ ดังนี้
1. กลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน
สาระสำคัญ
มีหน่วยงานหลักที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ได้แก่
(1) คณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย
(2) สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และ
(3) คณะกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย พ.ศ. 2551
2. แนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงาน
สาระสำคัญ
เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและเชื่อมโยงระหว่างแผนปฏิบัติการฯ กับแผนบริหารราชการแผ่นดินของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
(1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนปฏิบัติการฯ แปลงแผนสู่การปฏิบัติ ประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการระยะ 5 ปี และรายปีของหน่วยงานนั้น ๆ
(2) ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ รับทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
(3) ประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานในระดับโครงการ
(4) ประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานภาพรวม และการบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด และ
(5) ดำเนินการติดตามตรวจสอบ และประเมินผล ด้วยระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR)
3. แนวทางการติดตามและประเมินผล
สาระสำคัญ
เพื่อติดตามความก้าวหน้า รวมทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการ โดยมี แนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
(1) กลไกในระดับนโยบายมีแนวทางในการกำกับ ติดตาม การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
(2) พัฒนากลไกในการติดตามและประเมินผลแผนปฏิบัติการฯ เพื่อทำหน้าที่ในการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่กำหนด การประเมินตัวชี้วัด ความสำเร็จของการแปลงแผนสู่การปฏิบัติ จัดทำรายงานประจำปี
(3) ใช้กระบวนการติดตามและประเมินผลแบบมีส่วนร่วมจากผู้ปฏิบัติงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
(4) พัฒนาระบบฐานข้อมูลให้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทุกระดับ และ
(5) รายงานผลการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ อย่างต่อเนื่อง
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564