เรื่อง รายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามพระราชบัญญัติ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ประจำปี พ.ศ. 2562
1. รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ประจำปี พ.ศ. 2562
2. ให้หน่วยงานของรัฐ ทั้งราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการอบรมด้านการบังคับคดีจากกรมบังคับคดี ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับทางปกครองโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน และกระทบกระเทือนต่อผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองน้อยที่สุด
3. ให้หน่วยงานของรัฐที่หารือต่อคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเช่นเดียวกับการให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482 ว่า ?...เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมายเป็นประการใดแล้ว โดยปกติให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา นั้น?
ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงคมนาคมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สคก. ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ประจำปี พ.ศ. 2562 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
1.1 การให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ แก่หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนราชการระดับกรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ รวม 12 เรื่อง ดังนี้
หน่วยงานที่ขอหารือ
1) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ปัจจุบัน : สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
เรื่องที่ขอหารือ
เหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง กรณีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์
2) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาการมีสภาพร้ายแรงหรือข้อห้ามในการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรม
เรื่องที่ขอหารือ
การในคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษา (อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา) ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการกลั่นกรองการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา
3) กรมโรงงานอุตสาหกรรม
เรื่องที่ขอหารือ
การนำพระราชบัญญัติฯ ไปใช้บังคับกับการเพิกถอนใบอนุญาตนำเข้า เศษพลาสติกตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอก และการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522
4) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
เรื่องที่ขอหารือ
มาตรการบังคับทางปกครองในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าไม่นำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550
5) กรมสรรพากร
เรื่องที่ขอหารือ
สถานะและการมีผลใช้บังคับของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 5) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560
6) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์กรณีเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง เป็นผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้ง
เรื่องที่ขอหารือ
ให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560
7) องค์การบริหารส่วนตำบลยางซ้าย
เรื่องที่ขอหารือ
การใช้มาตรการบังคับทางปกครองในระหว่างที่มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน
8) องค์การบริหารส่วนตำบลท่าตำหนัก
เรื่องที่ขอหารือ
ระยะเวลาการใช้มาตรการบังคับทางปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าตำหนัก อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
9) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
เรื่องที่ขอหารือ
การบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินที่ยังไม่เป็นที่สุด
10)กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
เรื่องที่ขอหารือ
สถานะของคำสั่งประธานกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดอุดรธานีที่ให้พนักงานส่วนตำบลไปปฏิบัติหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนตำบลอื่นในเขตจังหวัด
11)ธนาคารออมสิน
เรื่องที่ขอหารือ
สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้บังคับต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครอง
12)องค์การบริหารส่วนตำบลศิลา
เรื่องที่ขอหารือ
การนับระยะเวลาในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองกรณีขององค์การบริหารส่วนตำบลศิลา
1.2 การจัดทำกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1) กฎกระทรวงการมอบอำนาจในการพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง พ.ศ. 2562 2) กฎกระทรวงกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองและการแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับทางปกครอง พ.ศ. 2562 และ 3) กฎกระทรวงกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจกำหนดค่าปรับบังคับการ พ.ศ. 2562
2. ผลการดำเนินงานของสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
2.1 การดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ตามที่ให้ สคก. ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงการปฏิบัติราชการทางปกครองให้เป็นไปโดยมีความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยในปี 2562 สรุปการดำเนินงานได้ ดังนี้
(1) ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บังคับพระราชบัญญัติฯ พร้อมทั้งทำการศึกษาและวิเคราะห์หลักกฎหมายปกครองของต่างประเทศเพื่อนำมาเป็นกรณีศึกษาในการปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้จัดทำให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องในโครงการสัมมนาเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
(2) จัดให้มีการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครองให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดโครงการสัมมนาเพื่อพัฒนาหลักกฎหมายปกครอง และบรรยายกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในหลักสูตรที่ สคก. จัดขึ้น รวมทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ในการจัดวิทยากรเพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง รวมทั้งได้จัดเจ้าหน้าที่เพื่อให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์แก่หน่วยงานของรัฐและประชาชนทั่วไปด้วย
(3) ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของ สคก. ไปอบรมหลักกฎหมายปกครองอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมและอบรมหลักสูตรของสถาบันการปกครองชั้นสูงแห่งชาติฝรั่งเศส จำนวน 4 คน
2.2 การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ใหม่ในการบังคับทางปกครอง ได้จัดทำร่างกฎกระทรวงที่ต้องออกตามพระราชบัญญัติฯ และได้จัดทำเอกสารเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์ใหม่ในการบังคับทางปกครอง ทั้งที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 และที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง โดยได้จัดทำข้อมูลในรูปแบบของอินโฟกราฟิก (infographic) เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจและเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ สคก.
3. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ สาเหตุประการหนึ่งของการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฯ เนื่องจากการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถใช้มาตรการบังคับทางปกครองเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองได้เองโดยไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลตามหลักเกณฑ์เดิมไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐขาดความเชี่ยวชาญในการดำเนินการสืบหาทรัพย์สิน การยึด การอายัดทรัพย์สิน และการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองและการแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับทางปกครอง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้มีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองซึ่งผ่านการอบรมด้านการบังคับคดีจากกรมบังคับคดี หรือด้านการบังคับทางปกครองตามหลักสูตรที่คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากหน่วยงานของรัฐยังไม่ส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมย่อมอาจก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการบังคับทางปกครอง นอกจากนี้ ในส่วนของการให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ ซึ่ง สคก. ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในช่องทางต่าง ๆ แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองจึงไม่ได้มีการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ดังนั้น คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ดังนี้
3.1 ให้หน่วยงานของรัฐ ทั้งราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการอบรมด้านการบังคับคดีจากกรมบังคับคดี ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับทางปกครองโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน และกระทบกระเทือนต่อผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองน้อยที่สุด
3.2 ให้หน่วยงานของรัฐที่หารือต่อคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเช่นเดียวกับการให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482 ว่า ?...เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมายเป็นประการใดแล้ว โดยปกติให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา นั้น?
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564