ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนไทย (Financial Literacy)

ข่าวการเมือง Tuesday February 2, 2021 20:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนไทย (Financial Literacy) ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป

เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนไทย (Financial Literacy) ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1) กำหนดให้ความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ จัดให้มีการรวบรวมข้อมูลการสำรวจระดับความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนในแต่ละกลุ่ม จัดทำช่องทางดิจิทัลเพื่อมาส่งเสริมและติดตามพัฒนาการของความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนในวงกว้าง และกำหนดให้มีขั้นตอนการดำเนินการและบทบาทของหน่วยงาน/องค์กร 2) จัดให้มีการปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมที่ได้ดำเนินการอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น และคำนึงถึงการบูรณาการกับนโยบายและมาตรการอื่น 3) ควรมีสวัสดิการของรัฐสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส และสนับสนุนให้มีการจัดทำบัญชีครัวเรือนและส่งเสริมการออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และให้มีองค์กรการเงินชุมชน และส่งเสริมการออมที่ไม่ใช่ตัวเงิน 4) ควรกำหนดให้ความรอบรู้ทางการเงินเป็นหลักสูตรวิชาบังคับในระบบการศึกษา
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) พิจารณาแล้วมีคำสั่งมอบหมายให้ กค. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ข้อเท็จจริง

กค. เสนอว่าได้ดำเนินการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยพิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ แล้ว สรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้

ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ

1) กำหนดให้ความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ จัดให้มีการรวบรวมข้อมูลการสำรวจระดับความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนในแต่ละกลุ่ม จัดทำช่องทางดิจิทัลเพื่อมาส่งเสริมและติดตามพัฒนาการของความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนในวงกว้างและกำหนดให้มีขั้นตอนการดำเนินการและบทบาทของหน่วยงาน/องค์กร เช่น จัดทำแผนแม่บทในการสร้างความรอบรู้ทางการเงินให้กับคนไทยอย่างเหมาะสมกับกลุ่มคนและช่วงวัย

ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ

  • สำนักงาน ก.ล.ต. รายงานว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนไทยในระดับวาระแห่งชาติแล้ว สำหรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ เช่น ในการสำรวจระดับความรอบรู้ทางการเงินของคนไทย เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนและสามารถวางแผนดำเนินการที่เหมาะสม การมีช่องทางดิจิทัลให้ประชาชนวงกว้าง เช่น เว็บไซต์ความรู้การเงินสำหรับคนไทย การมีแผนแม่บทการให้ความรู้ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่มีตัวชี้วัดที่วัดประสิทธิผลได้ชัดเจนและมีหน่วยงานรับผิดชอบในแต่ละกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งแนวทางตามข้อเสนอแนะดังกล่าวสอดคล้องกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทย พ.ศ. 2560 - 2564 คปภ. ได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ร่างแผนแม่บทเพื่อส่งเสริมความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ คปภ. โดยจะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยให้กับประชาชนควบคู่ไปกับการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามกลุ่มเป้าหมาย และ ธปท. ได้มีการจัดทำรายงานผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ปี 2561 ตามกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นทางการแล้ว

2) จัดให้มีการปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมที่ได้ดำเนินการอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น เช่น การตั้งเป้าให้มีการขยายผลการเรียนการสอนความรอบรู้ทางการเงินลงไปในระดับที่อายุน้อยลง และขยายกลุ่มเป้าหมายของการยกระดับความรู้ และคำนึงถึงการบูรณาการกับนโยบายและมาตรการอื่น

3) ควรมีสวัสดิการของรัฐสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส และสนับสนุนให้มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน และส่งเสริมการออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และให้มีองค์กรการเงินชุมชน เนื่องจากเป็นหน่วยงานใกล้ชิดประชาชนแต่ละพื้นที่ และส่งเสริมการออมที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การปลูกต้นไม้มูลค่าสูงระยะยาว

ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ

  • กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ เนื่องจากสามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชนไทย โดยจำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างคณะกรรมการหรือคณะทำงานที่สามารถสั่งการ กำกับดูแล และติดตามผลการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินได้อย่างบูรณาการ ครอบคลุมภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินซึ่งเป็นการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตที่ต้องใช้เวลาและความต่อเนื่องในการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่ง กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการ โดย กค. ได้มีคำสั่งที่ 818/2563 ลงวันที่ 10 เมษายน 2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานการพัฒนาทักษะทางการเงิน โดยประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานรัฐทั้งในและนอกสังกัด กค. หน่วยงานกำกับดูแลสาขาการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชน เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนและบูรณาการการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ทั้งนี้ กค. จะได้นำข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ มาพิจารณาในรายละเอียดกับหน่วยงานในคณะทำงานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชนไทยต่อไป

4) ควรกำหนดให้ความรอบรู้ทางการเงินเป็นหลักสูตรวิชาบังคับในระบบการศึกษา

ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ

  • ศธ. ได้บรรจุเรื่องความรอบรู้ทางการเงินไว้ในหลักสูตรพื้นฐาน/บังคับของระบบการศึกษาไทยแล้ว โดยปัจจุบันเรื่องดังกล่าวอยู่ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ภายใต้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ในสาระที่ 3 เศรษฐศาสตร์

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ