สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ข่าวการเมือง Tuesday February 2, 2021 20:40 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ครั้งที่ 2/2564

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส

โคโรนา 2019 (โควิด - 19) เสนอ สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2564 ดังนี้

สรุปสถานการณ์ ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ

1. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์ ดังนี้

1) สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ณ วันที่ 28 มกราคม 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 101,433,090 ราย โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมาก 3 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล โดยประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 120 จาก 217 ประเทศทั่วโลก

2) สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2563 - 29 มกราคม 2564 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 12,786 ราย (เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 4,458 คน คัดกรองเชิงรุก 7,664 คน มาจากต่างประเทศ 664 คน) หายป่วยแล้ว 7,456 ราย กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,428 ราย และอยู่ในโรงพยาบาลสนาม 3,886 ราย ณ วันที่ 29 มกราคม 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 802 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 89 ราย การคัดกรองเชิงรุก 692 ราย และผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ระหว่างกักตัวในสถานที่กักกันที่ทางราชการ 21 ราย

3) สรุปสถานการณ์โรคโควิด - 19 ระลอกใหม่ของประเทศไทยในภาพรวม พบว่าจังหวัดต่าง ๆ มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและควบคุมเป็นอย่างดี ยกเว้น จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งยังคงพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ในส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังพบผู้ติดเชื้อในสถานที่ทำงานและจากงานเลี้ยงต่าง ๆ ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก ยังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศมาเลเซียและเมียนมา จึงต้องคงระดับการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดตามพื้นที่ชายแดนของประเทศ

2. ความคืบหน้าการจัดหาและการเตรียมความพร้อมการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้า ดังนี้

1) แนวทางดำเนินการเพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด ? 19 ประกอบด้วย การวิจัยพัฒนา ในประเทศไทย การทำความร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศ และการจัดซื้อจัดหาวัคซีนนำมาใช้ในประเทศ

2) การจัดหาวัคซีนครอบคลุมประชากรไทย ร้อยละ 50 (ประชากร 33,000,000 คน) ปี 2564 ประกอบด้วย

(1) บริษัท AstraZeneca จำกัด จำนวน 26,000,000 โดส ดำเนินการจองเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะได้รับวัคซีนในเดือนมิถุนายน 2564

(2) ผู้ผลิตรายอื่น ได้แก่ บริษัท Sinovac Biotech จำกัด จำนวน 2,000,000 โดส และจองซื้อเพิ่มจากบริษัท AstraZeneca จำกัด จำนวน 35,000,000 โดส

(3) โครงการ COVAX อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและการเจรจาต่อรอง

3) กลุ่มเป้าหมายการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 มีวัคซีนปริมาณจำกัดดำเนินการในพื้นที่ที่มีการระบาด (ก.พ.-เม.ย. 2564) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน บุคคลที่มีโรคประจำตัวตามเกณฑ์ 6 โรคที่กำหนด ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค ระยะที่ 2 มีวัคซีนมากขึ้นขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ (พ.ค. - ธ.ค.2564) สำหรับกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่นอกเหนือจากด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยโควิด - 19 ผู้ประกอบอาชีพด้านขนส่งสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน และผู้เกี่ยวข้องกับการเดินทางระหว่างประเทศ ระยะที่ 3 มีวัคซีนเพียงพอ (ม.ค. 2565 เป็นต้นไป) สำหรับประชาชนทั่วไป

4) กลไกการดำเนินงานบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ปี 2564 ได้แก่ คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ภายใต้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบครอบคลุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข้อสังเกตที่ประชุม

เห็นควรเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั่วไป และควรพิจารณาแผนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มอื่น ๆ อาทิ

กลุ่มนักการทูตและนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเกิดประโยชน์ทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ

3. การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด - 19 ตามแนวชายแดน ที่ประชุมรับทราบรายงาน ดังนี้

1) การสกัดกั้นผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ได้กวดขันและบูรณาการการปฏิบัติของกองกำลังป้องกันชายแดน โดยเพิ่มความถี่ ทั้งการเฝ้าตรวจและการลาดตระเวนในพื้นที่ชายแดน ตลอดจนวางเครื่องกีดขวางตามช่องทาง/ท่าข้ามที่สำคัญ และเครื่องมือพิเศษทุกระบบในการเฝ้าตรวจพื้นที่

2) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ตามแนวชายแดน ประกอบด้วย การปฏิบัติในพื้นที่ชายแดนทางบกของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในทุกด้าน และการจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัด และชุดสายตรวจร่วมตามเส้นทางต่าง ๆ รวมถึงการตรวจสถานที่ซึ่งอาจเป็นแหล่งพักพิงผู้ลักลอบเข้าเมือง โดยผลการปฏิบัติ ยอดจับกุมในภาพรวมเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 มียอดการจับกุม จำนวน 1,564 คน และในเดือนมกราคม 2564 จำนวน 1,889 คน ทั้งนี้ คาดว่าภายหลังสิ้นสุดการเปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวนผู้ที่พยายามลักลอบข้ามแดนจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากยังมีความต้องการแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการภายในประเทศ

3) การบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้มาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กำหนด เช่น การจัดจุดตรวจ ชุดสายตรวจ และชุดตรวจกิจการ เพื่อควบคุมเส้นทางคมนาคมสำคัญซึ่งเป็นรอยต่อ และจุดตรวจย่อยตามเส้นทางรอง/พื้นที่เสี่ยง การควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัด โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตลอดจนกวดขันจับกุมกลุ่มบุคคลที่ทำผิดกฎหมาย และป้องกันมิให้มีกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

4) การสนับสนุนการปฏิบัติงานของจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ การจัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์?สนับสนุน เพื่อควบคุมพื้นที่ตลาดกลางกุ้งและการเดินทางเข้าออกจังหวัด การจัดล่ามภาษาเมียนมา ปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ห่วงใยคนสาคร สนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ?ทางการช่าง รวมทั้งเตียงนอนและเครื่องนอน จำนวน 3,000 ชุด เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จัดรถยนต์?บรรทุกขนย้ายผู้ป่วย ตลอดจนสนับสนุนการตรวจเชิงรุกในพื้นที่

4. การดำเนินการให้เป็นไปตามข้ออนุมัติของนายกรัฐมนตรีตามการเสนอของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด ? 19 ที่ประชุมรับทราบรายงาน ดังนี้

1) การผ่อนคลายเพื่อจัดการแข่งขันกีฬาภายใต้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 มีหลักการสำคัญในการพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้ (1) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากต่างประเทศต้องกักกันตนเองเป็นระยะเวลา 14 วัน (2) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด - 19 (3) ผู้จัดกิจกรรมต้องจำกัดพื้นที่ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ (4) ทุกกิจกรรมยังไม่ได้รับอนุญาตให้มีผู้เข้าชม เว้นแต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลง และ (5) เน้นมาตรการป้องกันโรคโควิด - 19 อาทิ การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย จัดจุดบริการเจล ตรวจวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการ ติดตั้งและสแกนแอปพลิเคชันไทยชนะ หมอชนะ ทั้งนี้ กิจกรรมที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการ ได้แก่ (1) การแข่งขันฟุตบอลอาชีพไทยลีก (31 มกราคม ? เมษายน 2564) (2) การแข่งขันวอลเลย์บอล ไทยแลนด์ ลีก (13 กุมภาพันธ์ - 11 เมษายน 2564) (3) การแข่งขันจักรยานชิงแชมป์ประเทศไทย และประเภทนานาชาติ (กุมภาพันธ์ - พฤศจิกายน 2564) (4) การประกวด Miss Grand International 2020 (1 - 28 มีนาคม 2564) (5) การแข่งขันกอล์ฟ LPGA พื้นที่จังหวัดชลบุรี (3 - 9 พฤษภาคม 2564)

2) การจัดทำสถานกักกันตัวรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organization Quarantine : OQ) ในพื้นที่ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยดำเนินการปรับปรุงและใช้พื้นที่โรงนอน เพื่อรองรับบุคคลที่ลักลอบเข้าประเทศ แรงงานต่างด้าวที่จะเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย และสามารถพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลสนามต่อไปได้ รวมจำนวน 14 แห่ง สามารถรองรับการกักตัวได้ 84,000 คน

5. ที่ประชุมเห็นควรให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแนวปฏิบัติในการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 - 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์และแนวปฏิบัติในแต่ละพื้นที่ ดังนี้

1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร

(1) ปิดสถานที่และเข้มงวดการควบคุมกำกับ ได้แก่ สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายกับสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สนามมวย สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ห้างสรรพสินค้า ฟิตเนส สนามชนไก่ ชนวัว กัดปลา บ่อน สนามพระเครื่อง กิจการอาบน้ำ อาบอบนวด สปา นวดแผนไทย โรงเรียน โรงเรียนกวดวิชา สถาบันการศึกษา สนามเด็กเล่น สวนสนุก เครื่องเล่นเด็ก ตู้เกมส์ ร้านเกมส์ ร้านอินเตอร์เน็ต การประชุมงานเลี้ยง กิจกรรมประเพณีที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก การจัดงานแสดงสินค้า สถานีขนส่งสาธารณะ

(2) เปิดสถานที่ โดยเข้มงวดมาตรการป้องกันโรคในสถานที่ ได้แก่

  • ตลาด ตลาดนัด จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและกำกับการเว้นระยะห่าง
  • ร้านอาหาร เปิดบริการได้ไม่เกิน 21.00 น. และงดดื่มสุราในร้าน
  • ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า จำกัดเวลาเปิดไม่เกิน 21.00 น.
  • ศูนย์เด็กเล็กและสถานที่พักผู้สูงวัย เฉพาะเข้าพักเป็นการประจำ
  • สถานประกอบการ โรงแรม กำกับมาตรการป้องกันโรคในองค์กร จัดให้มีระบบติดตามตัวของผู้เดินทางเข้าออกทุกคน

2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ

  • ปิดสถานบริการ สถานประกอบการคล้าย ผับ บาร์ คาราโอเกะ ปิดสถานที่/ซื้ออาหารนำไปรับประทานที่อื่น
  • ร้านอาหาร จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้นั่งรับประทานอาหารได้ จำกัดจำนวนคนต่อโต๊ะ (เน้นการเว้นระยะห่าง) จำกัดเวลาไม่เกิน 23.00 น. งดดื่มสุราในร้าน (ซื้อกลับได้)
  • การจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (On site, Online, On air) งดกิจกรรมที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากในสถานที่ กรณีโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกิน 120 คน หรือโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทุกพื้นที่เปิดการเรียนได้ตามปกติ และมีการกำกับมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด
  • การประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหาร/สิ่งของ (เน้นกำกับการใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะและหมอชนะ ก่อนและหลังร่วมกิจกรรม) จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน 100 คน งดดื่มสุราและงดแสดงดนตรีที่มีการเต้นรำ
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ เปิดบริการได้ตามเวลาปกติ ภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่กำหนด งดกิจกรรมที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากในสถานที่
  • ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม จัดนิทรรศการ เปิดบริการได้ตามเวลาปกติ ภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่กำหนด จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมตามขนาดพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 1 ตารางเมตร /คน
  • แรงงานต่างด้าว จำกัดการเดินทางและเคลื่อนย้าย และใช้แอพพลิเคชั่นหมอชนะ ในกรณีมีความจำเป็นในการเดินทางและเคลื่อนย้ายเพื่อทำงานและเป็นไปตามสัญญาที่ได้จัดทำไว้ ให้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
  • บ่อนการพนัน สนามชนไก่ ชนวัว ปิดสถานที่ทุกพื้นที่จังหวัด
  • สถานบริการ อาบน้ำ อาบอบนวด ปิดสถานที่ งดให้บริการนอกสถานที่
  • สปา นวดแผนไทย จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ตามขนาดพื้นที่ ทุกพื้นที่จังหวัด
  • สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ในอาคาร ยิม ฟิตเนส สนามมวย ให้แข่งขันได้แบบไม่มีผู้ชม สามารถฝึกซ้อมได้และมีการป้องกันโรคส่วนบุคคล

3) พื้นที่ควบคุม 20 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด ตาก นครนายก นครปฐม ปราจีนบุรี เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง

  • สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ (เน้นการเว้นระยะห่าง) ไม่เกิน 23.00 น. จำกัดเวลาจำหน่าย/ดื่มสุรา ได้ไม่เกิน 23.00 น. แสดงดนตรีได้ งดการเต้นรำ
  • ร้านอาหาร จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้นั่งรับประทานอาหารได้ จำกัดจำนวนคนต่อโต๊ะ (เน้นการเว้นระยะห่าง) จำกัดเวลาจำหน่าย/ดื่มสุรา ได้ไม่เกิน 23.00 น.
  • การจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม เปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติและกำกับมาตรการป้องกันโควิด ? 19 จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคน ในสถานที่ กรณีโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกิน 120 คน หรือ โรงเรียน ตำรวจตระเวนชายแดน ทุกพื้นที่เปิดการเรียนได้ตามปกติ และมีการกำกับมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด
  • การประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหาร/สิ่งของ (เน้นกำกับการใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะและหมอชนะ ก่อนและหลังร่วมกิจกรรม) จำนวนผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน 300 คน แสดงดนตรีได้ งดการเต้นรำ
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอล ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ เปิดให้บริการได้ตามปกติ ภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่กำหนด งดจัดกิจกรรมที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากในสถานที่
  • คนไทยเดินทางข้ามจังหวัด เน้นการตรวจคัดกรอง ติดตามกำกับกรณีเดินทางมาจากมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด
  • สถานบริการ อาบน้ำ อาบอบนวด เปิดบริการได้ โดยจำกัดผู้ใช้บริการ สปา นวดแผนไทย จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ตามขนาดพื้นที่ ทุกพื้นที่จังหวัด
  • สถานที่ออกกำลังกาย - ในอาคาร ยิม ฟิตเนส สนามมวย แข่งขันได้ มีผู้ชมตามเกณฑ์ที่กำหนด
  • บ่อนการพนัน สนามชนไก่ ชนวัว ปิดสถานที่ทุกพื้นที่จังหวัด

4) พื้นที่เฝ้าระวังสูง 17 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร นครราชสีมา นครสวรรค์ นราธิวาส บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบูรณ์ ยะลา ระนอง สงขลา สุโขทัย สุราษฎร์ธานี อุทัยธานี

  • สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ จำกัดเวลาจำหน่าย/ดื่มสุรา ไม่เกิน 24.00 น.
  • ร้านอาหาร จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้นั่งรับประทานอาหารได้ จำกัดจำนวนคนต่อโต๊ะ (เน้นการเว้นระยะห่าง) จำกัดเวลาจำหน่าย/ดื่มสุรา ไม่เกิน 24.00 น.
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอล ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก
  • คนไทยเดินทางข้ามจังหวัด เน้นการตรวจคัดกรอง ติดตามกำกับกรณีเดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด
  • สถานบริการ อาบน้ำ อาบอบนวด เปิดให้บริการได้ โดยจำกัดใช้บริการ
  • สปา นวดแผนไทย จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ตามขนาดพื้นที่ ทุกพื้นที่จังหวัด
  • สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ในอาคาร ยิม ฟิตเนส สนามมวย แข่งขันได้ มีผู้ชมตามเกณฑ์ที่กำหนด
  • บ่อนการพนัน สนามชนไก่ ชนวัว ปิดสถานที่ทุกพื้นที่จังหวัด

5) พื้นที่เฝ้าระวัง 35 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปัตตานี พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี

  • สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ เปิดบริการได้ จำกัดเวลา ตามที่กฎหมายกำหนด จำหน่าย/ดื่มสุราในร้านตามที่กฎหมายกำหนด แสดงดนตรีได้ เต้นรำได้ เน้นการเว้นระยะห่าง
  • ร้านอาหาร จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้นั่งรับประทานอาหารได้ จำกัดจำนวนคนต่อโต๊ะ (เน้นการเว้นระยะห่าง) เปิดบริการได้ จำกัดเวลาตามที่กฎหมายกำหนด จัดระเบียบการเข้าใช้บริการ
  • คนไทยเดินทางข้ามจังหวัด เน้นการตรวจคัดกรอง ติดตามกำกับกรณีเดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด
  • สถานบริการ อาบน้ำ อาบอบนวด เปิดให้บริการได้ โดยจำกัดผู้ใช้บริการ สปา นวดแผนไทย จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ตามขนาดพื้นที่ ทุกพื้นที่จังหวัด
  • สถานที่ออกกำลังกายในอาคาร ยิม ฟิตเนส สนามมวย แข่งขันได้ มีผู้ชมตามเกณฑ์ที่กำหนด
  • บ่อนการพนัน สนามชนไก่ ชนวัว ปิดสถานที่ทุกพื้นที่จังหวัด

ข้อสังเกตและมติที่ประชุม

1. เห็นชอบในการให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สามารถกำหนด

มาตรการที่เข้มงวดมากกว่าที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กำหนดกรณีหากต้องการปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในระดับเขต/อำเภอ ให้เสนอขอความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ผ่านศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19

2. เห็นควรให้บังคับใช้แนวปฏิบัติในการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่

ระบาดของโรคโควิด - 19 ระลอกใหม่ ในระหว่างวันที่ 1 ? 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยให้ประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และสามารถทบทวนปรับปรุงระยะเวลาหรือยกเลิกได้ตลอดเวลา

3. เห็นควรให้พิจารณาการผ่อนปรนหรือยกเลิกการตั้งจุดตรวจ จุดสกัดเพื่อควบคุม

การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่ได้รับการปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาตามบริบทและสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด

ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี

1. ให้ทุกหน่วยงานเตรียมการเพื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งเป็นกลไกของรัฐสภาที่จะช่วยในการแก้ไขปัญหาของประเทศ จึงขอให้ทุกหน่วยงานเน้นการชี้แจงผลงานที่รัฐบาลดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบโดยมีข้อมูลข้อเท็จจริงและรายละเอียดประกอบการชี้แจงด้วย

2. ให้ กระทรวงสาธารณสุข และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ประชาสัมพันธ์และให้ประชาชนทราบข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศ มาตรการการป้องกันและควบคุมโรคโควิด - 19 มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด - 19 เป็นต้น

3. ให้ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านความมั่นคง และหน่วยงานความมั่นคง ดำเนินการกวดขันและเฝ้าระวังตามพื้นที่ชายแดนทั้งประเทศ เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย รวมถึงการป้องกันการกระทำผิดกฎหมายในลักษณะอื่น เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น และเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจการประกอบกิจการ และกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลาย โดยหากมีการฝ่าฝืนขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น

4. ให้ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศ สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบความคืบหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ในประเทศไทย ความร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศ การจัดซื้อจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 และการส่งเสริมการวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าและนำไปสู่การผลิตได้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาวัคซีนจากใบยาสูบ และการวิจัยวัคซีน ชนิด mRNA เป็นต้น รวมทั้งติดตามสถานการณ์วัคซีนในต่างประเทศและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เพิ่มเติมด้วย

5. ให้ คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ดำเนินการ ดังนี้ 1) จัดทำแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 จำนวน 26,000,000 โดส ของบริษัท AstraZeneca และซิโนแวคโดยให้จัดรายละเอียดกลุ่มเป้าหมาย จำนวน และระยะเวลาให้ชัดเจน 2) จัดทำแผนการแจกจ่ายวัคซีนป้องกัน โรคโควิด - 19 ประกอบด้วย สถานที่การฉีดวัคซีนป้องกันโรค โควิด - 19 เช่น โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นต้น และการบริหารจัดการขนย้ายวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เพื่อดำเนินการแจกจ่าย โดยให้ร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ในการเตรียมการขนส่งไม่ให้เกิดความเสียหาย ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564

6. ให้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแอปพลิเคชันติดตามผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด - 19 และให้ติดตามแนวทางการรับรองผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 จากต่างประเทศอย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดแนวทางต่อไป

7. ให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำรวจการจัดทำแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และอื่น ๆ ทั้งนี้ ให้ทุกกระทรวงรายงานผลการดำเนินการของแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์ม เพื่อให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป

8. ให้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแลและประสานงานให้การจัดกิจกรรมการแข่งขันต่าง ๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งให้มีการเน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคโควิด - 19 คือ D - M - H - T - T (D = Distancing, M = Mask Wearing, H = Hand Washing,T = emperature Check, T = Thaichana/Morchana)

9. ให้ กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำแผนงานการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ของสถานศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่ให้ชัดเจน และให้ขอความร่วมมือจากองค์กรที่รับผิดชอบด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อาทิ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) พิจารณาการเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่ายให้มีความครอบคลุมและทั่วถึง เพื่อให้การเรียนการสอนในระบบ Online ของสถานศึกษาต่าง ๆ เกิดความต่อเนื่องและประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน รวมถึงให้ขอความร่วมมือสถานศึกษาเอกชน พิจารณาลดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดโรคโควิด ? 19

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ