เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca)
1. รับทราบรายละเอียดการดำเนินงานจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองซื้อล่วงหน้า (AstraZeneca) ในส่วนของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
2. อนุมัติสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 2,741,336,000 บาท ภายใต้โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) ในส่วนที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวข้อง
โดยขอให้กรมควบคุมโรคเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแผนงาน/โครงการอย่างเคร่งครัด รวมทั้งจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
1. กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับกรมควบคุมโรคได้จัดทำโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) กรอบวงเงินทั้งสิ้น 6,216.25 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 และวันที่ 12 มกราคม 2564 ทั้งนี้ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงมกราคม 2564 สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคีกับบริษัท AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโด๊ส เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2. ภายใต้โครงการดังกล่าว กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ในการชำระเงินร้อยละ 40 ของมูลค่าวัคซีนรวม เมื่อผลิตวัคซีนสำเร็จและมีการส่งมอบวัคซีน โดยแบ่งชำระ 5 งวด ๆ ละ 3 เดือน และดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การบริหารจัดการ และการสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ มีกรอบวงเงินรวม จำนวน 3,670.29 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าวัคซีนส่วนที่เหลือ 40% ของราคาวัคซีนทั้งหมด วงเงิน จำนวน 1,575.60 ล้านบาท และเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม วงเงิน จำนวน 110.29 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น จำนวน 1,685.89 ล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นค่าบริหารจัดการวัคซีนและค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องอีกกับการเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ เพื่อรองรับการฉีดวัคซีน จำนวน 1,984.40 ล้านบาท
3. เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีน COVID-19 ของบริษัท AstraZeneca Thailand เป็นประเภทยาควบคุมพิเศษ ที่สามารถนำหรือสั่งเข้ามาในประเทศไทยได้ โดยต้องปฏิบัติตามประกาศ อย. เรื่อง การอนุญาตผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์แบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดใหญ่ของโรค (Conditional Approval for Emergency Use of Medicinal Products) ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงดำเนินการจัดซื้อวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID ? 19)) ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2563 ข้อ 6 โดยวัคซีนล๊อตแรก จำนวน 50,000 โด๊ส จะส่งมอบให้ไทยภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้ และจะดำเนินการบริหารจัดการวัคซีนตามแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการให้วัคซีน COVID-19 ต่อไป
4. ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีหนังสือถึงสำนักงบประมาณเพื่อขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายใต้โครงการข้างต้น วงเงิน 3,670.29 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโครงการในส่วนที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้การเตรียมการจัดซื้อวัคซีนและบริหารจัดการวัคซีนสำหรับให้บริการกับประชาชนไทยได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด
5. สำนักงบประมาณได้แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรค เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 2,741,336,000 บาท
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564