การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล

ข่าวการเมือง Tuesday February 2, 2021 20:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาพนมเปญมุ่งสู่การท่องเที่ยวของอาเซียนที่ยั่งยืน ครอบคลุม และฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น (Phnom Penh Declaration Towards a More Sustainable, Inclusive and resilient ASEAN Tourism) รวมทั้งร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 (The 24th meeting of ASEAN Tourism Ministers , Joint media Statement) ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) ครั้งที่ 20 (the 20th Meeting of ASEAN Plus Three (China, japan and Republic of Korea) Tourism Ministers และร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน - อินเดีย ครั้งที่ 8 (Eighth Meeting of ASEAN-India Tourism Ministers, Joint Media Statement) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างปฏิญญาและร่างแถลงข่าวร่วมดังกล่าว ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสามารถดำเนินการได้ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในภายหลัง หากมีการปรับปรุงแก้ไขพร้อมด้วยเหตุผลประกอบ และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง และให้ร่วมรับรองร่างปฏิญญาและร่างแถลงข่าวร่วมดังกล่าว โดยไม่มีการลงนามในการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 4 - 5 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านระบบ การประชุมทางไกล ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงการท่องเที่ยวแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 2 - 5 กุมภาพันธ์ 2564 โดยการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนจะให้การรับรองร่างปฏิญญาพนมเปญ มุ่งสู่การท่องเที่ยวของอาเซียนที่ยั่งยืน ครอบคลุม และฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น รวมถึงร่างแถลงข่าวร่วม จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 (2) ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 20 และ (3) ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน - อินเดีย ครั้งที่ 8

2. ร่างปฏิญญาพนมเปญมุ่งสู่การท่องเที่ยวของอาเซียนที่ยั่งยืน ครอบคลุม และฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น (Phnom Penh Declaration towards a More Sustainable, Inclusive and Resilient ASEAN Tourism) มีสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนมุ่งมั่นในวิสัยทัศน์สำหรับการท่องเที่ยวอาเซียนที่จะเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ซึ่งนำเสนอประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์และมีความหลากหลายของอาเซียน อีกทั้งมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล เพื่อที่จะนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาคมอาเซียน ภายในปี 2568 ตามที่ระบุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ปี พ.ศ. 2559 - 2568 (ASEAN Tourism Strategic Plan 2016 - 2025) โดยจะเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ เพื่อเริ่มต้นและสร้างการท่องเที่ยวของอาเซียนที่ปลอดภัยใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะในบทบาทของการเป็นส่วนขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งที่ผ่านมาการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ หนักที่สุดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างไรก็ตาม อาเซียนจะแก้ปัญหาดังกล่าวผ่านแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวอาเซียน เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ตลอดจนการใช้นวัตกรรมใหม่ เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในการสนับสนุนการดำเนินแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวอาเซียนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เช่นเดียวกับปฏิญญาปากเซว่าด้วยแผนแม่บทสำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวกลุ่มนิเวศและระเบียงการท่องเที่ยวอาเซียน (Pakse Declaration on ASEAN Roadmap for Strategic Development of Ecotourism Clusters and Tourism Corridors) ที่เรียกร้องให้มีการดำเนินการร่วมกัน เพื่อการพัฒนาที่สมดุลอย่างยั่งยืนของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

3. ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 (Joint Media Statement of the 24th Meeting of ASEAN Tourism Ministers) มีสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อผลกระทบของการแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปี 2563 เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ หนักที่สุด

รัฐมนตรีได้ให้การรับรองแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ. 2559 - 2568 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางเชิงกลยุทธ์ของความร่วมมือในอนาคตของภาคการท่องเที่ยวที่มีความยืดหยุ่น ยั่งยืนและครอบคลุมมากขึ้น

รัฐมนตรีได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการตามลำดับความสำคัญของแถลงการณ์ ร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวอาเซียน (Joint Statement of the ASEAN Tourism Ministers on Strengthening Cooperation to Revitalise ASEAN Tourism) และได้แสดงความยินดีกับการเปิดตัวโครงการศึกษาผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และข้อเสนอแนะด้านนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศสำหรับแผนฟื้นฟูภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับการท่องเที่ยวภูมิภาคอาเซียน และรับทราบว่า อาเซียนกำลังพัฒนาแนวทางด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยสำหรับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และจะได้ข้อ สรุปภายในปี 2564

รัฐมนตรีได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ทั้ง 7 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ. 2559 - 2568 และยินดีต่อการปรับปรุงแผนกลยุทธ์การตลาดท่องเที่ยวอาเซียน ให้ครอบคลุมระยะ 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564 - 2568) และสนับสนุนให้คณะกรรมการด้านการท่องเที่ยวอาเซียนที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด และเพื่อยกระดับการพิจารณาของกลุ่มเป้าหมายและตลาดให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นกลุ่มเป้าหมายและตลาดสำหรับจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวในวันหยุด (Holiday Destination) โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ภายในปี 2568

รัฐมนตรีได้อนุมัติข้อริเริ่มของเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการท่องเที่ยวอาเซียน เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับ ?ผลกระทบทางเศรษฐกิจและการพัฒนาจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของเรือสำราญอาเซียน? (ASEAN Cruise Economic Impacts and Destination Development) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดและประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจ การมีส่วนร่วม และผลกระทบจากอุตสาหกรรมเรือสำราญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อเศรษฐกิจและชุมชนในประชาคมอาเซียน

รัฐมนตรีได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการทั้ง 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) ยกระดับชุมชนท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชนในห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยว 2) ทำให้มั่นใจถึงความปลอดภัยโดยให้ความสำคัญในการปกป้องและการจัดการแหล่งมรดกเป็นอันดับแรก และ 3) เพิ่มการตอบสนองต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งยินดีที่ได้ทราบถึงการพัฒนาคู่มือรายชื่อเมืองอารยสถาปัตย์ (Directory for Universal Design City) ของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่เข้าถึงได้สำหรับคนทั้งมวล

รัฐมนตรีจึงเห็นพ้องที่จะขยายการเป็นประธานอาเซียนด้านการท่องเที่ยวของกัมพูชาไปถึงเดือนมกราคม 2565 เพื่อให้กัมพูชาได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Forum: ATF) ในปี 2564

4. ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) ครั้งที่ 20 (Joint Media Statement of the 20th Meeting of ASEAN Plus Three (China, Japan and Republic of Korea) Tourism Ministers) มีสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบและมาตรการสำหรับการบรรเทาผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ดำเนินการโดยประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม รวมทั้งหารือเกี่ยวกับแนวทางเชิงกลยุทธ์ เพื่อฟื้นฟูความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม โดยมุ่งเน้นไป ที่ความพยายามในการฟื้นฟูและการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ในการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และได้ให้การรับรองแผนงานความร่วมมืออาเซียนบวกสาม ปี 2564 - 2568 ซึ่งมุ่งเน้น การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียนบวกสามในอีก 5 ปีข้างหน้า

รัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมถึงบทบาทสำคัญของศูนย์อาเซียน - จีน ศูนย์อาเซียน - ญี่ปุ่น และ ศูนย์อาเซียน - เกาหลี ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศสมาชิกบวกสามตลอดปี 2563 โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และกิจกรรมสำคัญอื่น ๆ

5. ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน - อินเดีย ครั้งที่ 8 (Joint Media Statement of the 8th Meeting of ASEAN - India Tourism Ministers) มีสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีแสดงความเห็นใจต่อการเสียชีวิตและการเสียโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนในภูมิภาค อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดระดับโลกของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการร่วมแรงร่วมใจในการบรรเทาผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต่อภาคการท่องเที่ยว โดยการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยและเตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นฟูภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19)

เห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียน - อินเดีย ภายใต้กรอบการดำเนินงานตามบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและอินเดียว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวด้วยความพยายามและกิจกรรมที่เข้มข้นขึ้น

รัฐมนตรีได้รับทราบการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวที่จัดขึ้นผ่านกิจกรรมในปี 2563 มีดังนี้

(1) แบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศสำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ และ/หรือ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

(2) แบ่งปันทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในด้านการศึกษาการท่องเที่ยวและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ

(3) ติดต่อสื่อสารในภาวะวิกฤต เพื่อปกป้องชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือขององค์กร การท่องเที่ยว และ/หรือ สถานที่ท่องเที่ยว ผ่านการจัดตั้งคณะสื่อสารในภาวะวิกฤตอาเซียน - อินเดีย

(4) แลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติและยุทธศาสตร์การพัฒนาโอกาสในการลงทุนและข้อมูล ทางเศรษฐกิจ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ