คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้ง ให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1. เนื่องจากงาน ประเภท และขนาดของงาน ในสาขาวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม แต่ละสาขา ได้แก่ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรมเคมี ตามกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550 ยังไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าด้านวิทยาการและเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเป็นไปอย่างรวดเร็วอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนคุณภาพของสิ่งแวดล้อม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2550 เกี่ยวกับลักษณะงาน ประเภทและขนาดของงาน ในสาขาวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมดังกล่าวให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
2. มท. ได้นำร่างกฎกระทรวงที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากสถาบันการศึกษา สมาคมวิชาชีพ ผู้ประกอบการภาคเอกชนภาครัฐ สมาชิกสภาวิศวกร และประชาชนทั่วไปแล้ว
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดงาน ประเภท และขนาดของงานในสาขาวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรมเคมี เพื่อให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าด้านวิทยาการและเทคโนโลยีด้านวิศวกรรม ดังนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธา เช่น
1.1 อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป หรือโครงสร้างของอาคารที่ชั้นใดชั้นหนึ่งมีความสูงตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป หรืออาคารที่มีระยะห่างระหว่างศูนย์กลางเสาหรือสิ่งรองรับอื่นตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป หรือองค์อาคารยื่นจากขอบนอกของที่รองรับตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป
1.2 อัฒจันทร์ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือที่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของพื้นอัฒจันทร์สูงจากระดับฐานหรือพื้นดินที่ก่อสร้างตั้งแต่ 2.50 เมตรขึ้นไป
1.3 อุโมงค์ส่งน้ำ ท่อส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ หรือช่องระบายน้ำ ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางภายในตั้งแต่ 0.80 เมตรขึ้นไป หรือที่มีพื้นที่หน้าตัดตั้งแต่ 0.50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือที่มีอัตราการไหลของน้ำตั้งแต่ 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีขึ้นไป
1.4 งานวางแนวและกำหนดระดับของทางรถไฟ ทางรถสาธารณะ ทางหลวง ทางสาธารณะ หรือทางวิ่งทางขับ หรือลานจอดของสนามบินทุกขนาด และงานต่อเติมรื้อถอน หรือดัดแปลงอาคารทุกประเภท ที่ทำให้สัดส่วนของอาคารผิดไปจากแบบแปลน
1.5 โครงสร้างที่มีลักษณะเป็นหอ ปล่อง หรือศาสนวัตถุที่มีความสูงตั้งแต่ 6 เมตรขึ้นไป โครงสร้างสะพานทุกประเภทที่มีระยะห่างระหว่างศูนย์กลางเสาหรือตอม่อช่วงใดช่วงหนึ่งยาวตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป และโครงสร้างที่มีการเก็บกักของไหล เช่น ถังเก็บน้ำ ถังเก็บน้ำมัน หรือสระว่ายน้ำ ที่มีความจุตั้งแต่ 50 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป
2. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ เช่น
2.1 การทำเหมือง การทำเหมืองใต้ดิน การทำเหมืองในทะเล ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ทุกขนาด การเจาะอุโมงค์หรือช่องเปิดในหินหรือแร่ทุกขนาด และการแต่งแร่หรือการแยกวัสดุต่าง ๆ ออกจากของที่ใช้แล้ว โดยใช้กำลังเครื่องจักรทุกขนาด
2.2 การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนทำเหมือง การปรับคุณภาพแร่หรือวัสดุด้วยกรรมวิธีแต่งแร่ การฟื้นฟูสภาพพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองหรือการปิดเหมืองและการควบคุมการพังทลายของดินหรือหินในเขตเหมืองแร่ทุกประเภทและทุกขนาด
2.3 การผลิตโลหะสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปด้วยกระบวนการขึ้นรูปต่าง ๆ และการปรับปรุงสมบัติโลหะด้วยกรรมวิธีการอบชุบทางความร้อน การตกแต่งผิว การเคลือบผิวโลหะที่ใช้คนงานตั้งแต่สามสิบคนขึ้นไป
3. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมเครื่องกล เช่น
3.1 งานวางโครงการเครื่องจักรกล เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่น ภาชนะรับแรงดัน เตาอุตสาหกรรม ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศที่ใช้งานในอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรืออาจมีผู้ใช้สอยพื้นที่ตั้งแต่สองร้อยคนขึ้นไป
3.2 เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นหรือความร้อนที่มีขนาดทำความเย็นหรือความร้อนตั้งแต่ 350 กิโลวัตต์ต่อโครงการขึ้นไป การจัดการพลังงานที่มีการใช้พลังงานตั้งแต่ 20 ล้านเมกะจูลต่อปีขึ้นไป และระบบดับเพลิงและระบบป้องกันอัคคีภัยที่ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป
3.3 งานออกแบบและคำนวณเครื่องจักรกลที่มีขนาดกำลังตั้งแต่ 7.50 กิโลวัตต์ต่อเครื่องขึ้นไป เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่นหรือภาชนะรับแรงดันทุกขนาด เตาอุตสาหกรรมที่มีขนาดอัตราความร้อนตั้งแต่ 40 กิโลวัตต์ขึ้นไป เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นหรือความร้อนที่มีขนาดตั้งแต่ 25 กิโลวัตต์ต่อเครื่องขึ้นไป หรือเพื่อประกอบเป็นระบบทำความเย็นหรือความร้อนที่มีขนาดตั้งแต่ 70 กิโลวัตต์ขึ้นไป
3.4 กำหนดระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศที่มีความดันเกจตั้งแต่ 500 กิโลปาสกาลขึ้นไป หรือมีสุญญากาศเกจต่ำกว่าลบ 50 กิโลปาสกาล
3.5 งานพิจารณาตรวจสอบลิฟต์โดยสารและระบบของไหลในท่อรับแรงดันสำหรับแก๊สเชื้อเพลิงในยานพาหนะทุกขนาด งานอำนวยการใช้เครื่องจักรกลที่มีขนาดกำลังรวมกันตั้งแต่ 500 กิโลวัตต์ต่อระบบ หรือขนาดกำลัง 250 กิโลวัตต์ต่อเครื่องขึ้นไป เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่นที่มีความดันเกจตั้งแต่ 500 กิโลปาสกาลขึ้นไป หรือมีอัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นตั้งแต่ 20,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมงต่อเครื่องขึ้นไป หรือมีอัตราการผลิตอย่างอื่นรวมกันตั้งแต่ 60,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมงขึ้นไป
3.6 ภาชนะรับแรงดันที่มีความดันเกจตั้งแต่ 1,300 กิโลปาสกาลขึ้นไป หรือมีปริมาตรตั้งแต่ 10 ลูกบาศก์เมตรต่อหน่วยขึ้นไป เตาอุตสาหกรรมที่มีขนาดอัตราความร้อนตั้งแต่ 1,500 กิโลวัตต์ต่อเตาขึ้นไป การจัดการพลังงานที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์หรือพลังงานความร้อนตั้งแต่ 20 ล้านเมกะจูลต่อปีขึ้นไป และเครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นหรือความร้อนที่มีขนาดรวมกันตั้งแต่ 1,750 กิโลวัตต์ขึ้นไป
3.7 ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศที่มีความดันเกจตั้งแต่ 500 กิโลปาสกาลขึ้นไป หรือมีสุญญากาศเกจต่ำกว่าลบ 50 กิโลปาสกาล
4. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เช่น
4.1 งานไฟฟ้ากำลัง โครงการระบบการผลิตไฟฟ้าที่มีขนาดรวมกันตั้งแต่ 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป หรือที่มีขนาดแรงดันสูงสุดระหว่างสายตั้งแต่ 3,300 โวลต์ขึ้นไประบบส่ง ระบบจำหน่าย ระบบการใช้ไฟฟ้าที่มีขนาดรวมกันตั้งแต่ 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป หรือมีขนาดแรงดันระหว่างสายตั้งแต่ 12 กิโลโวลต์ขึ้นไป ระบบและเครื่องจักรกลไฟฟ้าที่มีขนาดรวมกันตั้งแต่ 100 กิโลวัตต์ขึ้นไป และการจัดการพลังงานที่มีขนาดตั้งแต่ 1,000 กิโลวัตต์ขึ้นไป
4.2 งานออกแบบและคำนวณระบบหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีขนาดตั้งแต่ 300 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป หรือมีขนาดแรงดันระหว่างสายตั้งแต่ 3,300 โวลต์ขึ้นไป ระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารสาธารณะที่มีขนาดการใช้ไฟฟ้ากำลังรวมกันตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยและระบบป้องกันฟ้าผ่าสำหรับอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษหรืออาคารชุด ระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารประเภทควบคุมการที่มีขนาดการใช้ไฟฟ้ากำลังรวมกันตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป และระบบและเครื่องจักรกลไฟฟ้าที่มีขนาดรวมกันตั้งแต่ 7.50 กิโลวัตต์ขึ้นไป เว้นแต่อาคารสำหรับใช้เก็บวัตถุอันตรายเฉพาะวัตถุระเบิดได้และวัตถุไวไฟทุกขนาด
4.3 งานควบคุมการสร้างหรือการผลิตระบบหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีขนาดตั้งแต่ 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป หรือมีขนาดแรงดันระหว่างสายตั้งแต่ 12 กิโลโวลต์ขึ้นไป ระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารสาธารณะที่มีขนาดการใช้ไฟฟ้ากำลังรวมกันตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยและระบบป้องกันฟ้าผ่าสำหรับอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรืออาคารชุด ระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารประเภทควบคุมที่มีขนาดการใช้ไฟฟ้ากำลังรวมกันตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป และระบบและเครื่องจักรกลไฟฟ้าที่มีขนาดรวมกันตั้งแต่ 20 กิโลวัตต์ขึ้นไป เว้นแต่อาคารสำหรับใช้เก็บวัตถุอันตรายเฉพาะวัตถุระเบิดได้และวัตถุไวไฟทุกขนาด
4.4 งานพิจารณาตรวจสอบระบบไฟฟ้าที่มีขนาดรวมกันตั้งแต่ 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป หรือมีแรงดันสูงสุดระหว่างสายตั้งแต่ 12 กิโลโวลต์ขึ้นไป ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยและระบบป้องกันฟ้าผ่าสำหรับอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษหรืออาคารชุด ระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารสาธารณะที่มีขนาดการใช้ไฟฟ้ากำลังรวมกันตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป ระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารประเภทควบคุมที่มีขนาดการใช้ไฟฟ้ากำลังรวมกันตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป เว้นแต่อาคารสำหรับใช้เก็บวัตถุอันตรายเฉพาะวัตถุระเบิดได้และวัตถุไวไฟทุกขนาด
4.5 งานอำนวยการใช้ระบบหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีขนาดตั้งแต่ 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป หรือมีขนาดแรงดันสูงสุดระหว่างสายตั้งแต่ 12 กิโลโวลต์ขึ้นไป ระบบและเครื่องจักรกลไฟฟ้าที่มีขนาดรวมกันตั้งแต่ 500 กิโลวัตต์ขึ้นไป และระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยและระบบป้องกันฟ้าผ่าสำหรับอาคารสูงอาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรืออาคารชุด
4.6 งานไฟฟ้าสื่อสาร ได้แก่ งานวางโครงการ งานออกแบบและคำนวณ งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต และงานพิจารณาตรวจสอบ ของระบบที่มีสถานีวิทยุคมนาคมที่ใช้คลื่นความถี่ตามตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติโดยใช้กำลังส่งออกอากาศสมมูลแบบไอโซทรอปิก ต่อคลื่นพาห์ต่อสถานีตั้งแต่ 30 วัตต์ขึ้นไป ระบบสายสัญญาณที่รองรับระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะ ระบบสั่งการระยะไกล ระบบโทรมาตร หรือระบบควบคุมระยะไกลในการขนส่งสาธารณะ
4.7 งานอำนวยการใช้ระบบที่มีสถานีวิทยุคมนาคมที่ใช้คลื่นความถี่ตามตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติใช้กำลังส่งออกอากาศสมมูลแบบไอโซทรอปิกต่อคลื่นพาห์ต่อสถานีตั้งแต่ 3.30 กิโลวัตต์ขึ้นไป
5. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาอุตสาหการ เช่น
5.1 โรงงานที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ 50 แรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ 50 แรงม้า ระบบการผลิต การสร้างหรือการประกอบสิ่งใด ๆ ที่ใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
5.2 ระบบสนับสนุนการผลิตหรือระบบความปลอดภัย ระบบกึ่งอัตโนมัติ ระบบอัตโนมัติ หรือระบบอัจฉริยะ สำหรับทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ทดสอบ เก็บรักษา หรือทำลายสิ่งใด ๆ หรือสิ่งก่อสร้างและเครื่องจักรที่ใช้ควบคุมมลพิษ หรือระบบระบายอากาศ ระบบแสงสว่าง และระบบอย่างอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือกระบวนการผลิตที่มีปฏิกิริยาเคมี ใช้สารไวไฟ ใช้สารอันตราย หรือเครื่องจักรที่ใช้ในระบบการผลิต ที่ใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปหรือที่ใช้เงินลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยแรงงาน
5.3 การถลุงแร่และการทำโลหะให้บริสุทธิ์ ในกรณีที่เป็นดีบุกตั้งแต่ 2 ตันต่อวันขึ้นไป ในกรณีที่เป็นตะกั่ว สังกะสี ทองแดง หรือพลวง ตั้งแต่ 5 ตันต่อวันขึ้นไป หรือในกรณีที่เป็นเหล็กหรือเหล็กกล้าตั้งแต่ 10 ตันต่อวันขึ้นไป หรือในกรณีที่ทำให้เกิดกากกัมมันตรังสี
5.4 ระบบดับเพลิงที่มีมูลค่ารวมกันตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป หรือที่มีพื้นที่ป้องกันอัคคีภัยตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป
6. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เช่น
6.1 ระบบประปาที่มีอัตรากำลังผลิตสูงสุดตั้งแต่ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป ระบบน้ำสะอาดสำหรับชุมชนหรืออาคารที่มีอัตราการผลิตหรืออัตราการจ่ายน้ำสูงสุดตั้งแต่ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป ระบบน้ำเสียและระบบการนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่สำหรับชุมชนหรืออาคารที่สามารถรองรับน้ำเสียในอัตรากำลังสูงสุดตั้งแต่ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป
6.2 ระบบระบายน้ำสำหรับพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำรวมกันตั้งแต่ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป ระบบควบคุมมลพิษทางอากาศที่มีปริมาตรการระบายอากาศตั้งแต่ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป ระบบการจัดการมลภาวะทางเสียงหรือความสั่นสะเทือนสำหรับโรงงานหรืออาคารสาธารณะที่มีค่าเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ระบบการฟื้นฟูสภาพดินหรือฟื้นฟูสภาพน้ำ ที่มีการปนเปื้อนที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 3,000 ตารางเมตรขึ้นไป
6.3 ระบบการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนที่มีปริมาณขยะมูลฝอยตั้งแต่ 5,000 กิโลกรัมต่อวันขึ้นไป โรงงาน อาคารสาธารณะ หรืออาคารขนาดใหญ่ที่มีปริมาณขยะมูลฝอยตั้งแต่ 2,000 กิโลกรัมต่อวันขึ้นไป ระบบน้ำบาดาลหรือระบบเติมน้ำลงในชั้นน้ำบาดาลที่มีปริมาณตั้งแต่ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป
7. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมเคมี เช่น
7.1 กระบวนการผลิตของโรงงานหรือสถานประกอบการที่อาศัยปฏิกิริยาเคมีเพื่อให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กำลังตั้งแต่ 500 กิโลวัตต์หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือก่อให้เกิดสารพิษ หรือสารไวไฟ หรือวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายหรือที่อาศัยปฏิกิริยาเคมีภายใต้ความดันเกจตั้งแต่ 2 บรรยากาศขึ้นไป หรือความดันต่ำกว่า 1 บรรยากาศสัมบูรณ์
7.2 กระบวนการจัดการหรือบำบัดของเสียจากกระบวนการผลิตของโรงงานหรือสถานประกอบการที่ใช้สารเคมีตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีที่ใช้กำลังในการบำบัดของเสียตั้งแต่ 20 กิโลวัตต์หรือเทียบเท่าขึ้นไป ระบบการเก็บ ขนส่ง หรือขนถ่ายซึ่งวัตถุอันตรายมีขนาดตั้งแต่ 20 เมตริกตันขึ้นไป
7.3 กระบวนการผลิตที่มีหรือประกอบด้วยอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หอกลั่น หอดูดซับ หอดูดซึม ถังตกตะกอน อุปกรณ์แยกสาร อุปกรณ์แยกขนาดที่ใช้กำลังตั้งแต่ 7.50 กิโลวัตต์หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือเครื่องต้มระเหยที่มีปริมาณความจุเกิน 500 ลิตรขึ้นไป หรือที่ใช้กำลังตั้งแต่ 7.50 กิโลวัตต์หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือเครื่องปฏิกรณ์ที่อาศัยปฏิกิริยาเคมีภายใต้ความดันเกจตั้งแต่ 3 บรรยากาศขึ้นไปหรือต่ำกว่า 1 บรรยากาศสัมบูรณ์โดยใช้กำลังตั้งแต่ 7.50 กิโลวัตต์หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือมีกำลังการผลิตตั้งแต่ 100 กิโลกรัมต่อชั่วโมงหรือมีขนาดตั้งแต่ 1,000 ลิตรขึ้นไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564