1. เห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้กระทรวงการคลังเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาในส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรการภาษีต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป
2. อนุมัติในหลักการ
(1) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินกรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
(2) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีการโอนและการจำนองห้องชุดตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
3. อนุมัติวงเงินงบประมาณจำนวน 507.33 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีสำหรับการดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้น ให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
4. การขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินงบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไปดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ต่อไป
5. การขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ถึง พ.ศ. 2566 เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2566 ให้ ศอ.บต. ไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เห็นควรให้ ศอ.บต. พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นลำดับแรก และให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามภาระที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
1. โดยที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอเทพา) เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และมีมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจดังกล่าว เพื่อจูงใจผู้ประกอบกิจการในพื้นที่และกระตุ้นให้มีการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว โดย กค. มีหน้าที่รับผิดชอบมาตรการในส่วนที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียม มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านประกันภัย ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้มีการขยายระยะเวลาเป็นระยะ ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย กค. ได้ดำเนินการมาตรการในส่วนที่เกี่ยวข้องสรุปได้ ดังนี้
1.1 มาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียม ได้แก่
(1) มาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่ผู้มีเงินได้ที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และมาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 624) พ.ศ. 2560
(2) มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด เหลือร้อยละ 0.01 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีการโอนและการจำนองห้องชุดตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
(3) มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและผู้ประกอบการ โดยกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายและรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าซื้อและติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ได้เป็นจำนวน 2 เท่า โดยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 625) พ.ศ. 2560
(4) มาตรการส่งเสริมการลงทุนในทรัพย์สิน โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจสามารถหักรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าหรือการขายสินค้าหรือการให้บริการในจังหวัดดังกล่าว แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของรายจ่ายดังกล่าว โดยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 626) พ.ศ. 2560
(5) มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 627) พ.ศ. 2560
(6) มาตรการส่งเสริมให้บุคลากรผู้มีความสามารถสูงไปทำงานในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ให้มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันระหว่างกิจการที่มีศักยภาพนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจกับกิจการที่มีศักยภาพในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่มีสถานประกอบกิจการอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สามารถหักรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนร่วมได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายดังกล่าว โดยมีผลบังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 628) พ.ศ. 2560
1.2 มาตรการด้านการเงิน
(1) มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ธ.ก.ส. ในส่วนของเงินต้นที่ไม่เกิน 200,0000 บาทต่อราย เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
(2) โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รายย่อย) กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563
1.3 มาตรการด้านการประกันภัย
(1) โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากการก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยชดเชยส่วนต่างเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 0.3 - ร้อยละ 3 สำหรับการประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยก่อการร้าย และชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 50 สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุของพนักงานที่สถานประกอบการทำประกันภัยให้ ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
(2) โครงการเมืองต้นแบบ ?สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน? โดยชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 50 สำหรับการประกันอัคคีภัย การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน และการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้ผู้ประกอบการ ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
2. ต่อมา ศอ.บต. ขอให้ กค. พิจารณาขยายระยะเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ออกไปอีก 3 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
3. กค. พิจารณาแล้วเห็นควรขยายระยะเวลาการดำเนินการมาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 3 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนได้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เกิดการผลิต การให้บริการ และการจ้างงาน อันเป็นการสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนที่สำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
4. ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี (28 พฤศจิกายน 2560) เห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยที่มาตรการดังกล่าวได้สิ้นสุดไปแล้ว ธ.ก.ส. ได้มีการสำรวจข้อมูลในพื้นที่พบว่าลูกค้า ธ.ก.ส. ยังคงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และการประกอบอาชีพ อีกทั้งสินค้าเกษตรและพืชผลการเกษตรราคาตกต่ำ นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนั้น เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว คณะกรรมการ ธ.ก.ส. ในคราวประชุมครั้งที่ 16/2563 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลา มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้า ธ.ก.ส. ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
5. คณะกรรมการตลาดของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในคราวประชุมครั้งที่ 15/2563 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบให้ขยายกรอบวงเงินและระยะเวลาดำเนินโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากกรอบวงเงินเดิม 5,000 ล้านบาท เป็น 8,000 ล้านบาท และขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการออกไปอีก 2 ปี จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2565 โดย ธอส. ไม่ขอรับการชดเชยจากรัฐบาล
1. มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจ ประกอบด้วย
1.1 มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มีเงินได้ที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย
- ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
วิธีดำเนินงาน
- ลดภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาที่มีสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดรายได้ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ให้สามารถนำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) และ (8) มาคำนวณในอัตราร้อยละ 0.1 ของยอดเงินได้พึงประเมินโดยเลือกไม่ต้องนำเงินได้นั้นไปรวมคำนวณภาษีปลายปี สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นในปี 2564 ถึงปี 2566
การสูญเสียรายได้
- คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี
1.2 มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้มีเงินได้ที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย
- ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
วิธีดำเนินงาน
- ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จากอัตราร้อยละ 20 เหลืออัตราร้อยละ 3 ของกำไรสุทธิให้กับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดรายได้ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
การสูญเสียรายได้
- คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล ประมาณ 70 ล้านบาทต่อปี
1.3 มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย
- ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
วิธีดำเนินงาน
- ลดอัตราภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์โดยลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเหลือร้อยละ 0.1 ตั้งแต่ปี 2564 ถึงปี 2566
การสูญเสียรายได้
- คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประมาณ 330 ล้านบาทต่อปี
1.4 มาตรการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย
- ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินธุรกิจเฉพาะ ซึ่งมีรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
วิธีดำเนินงาน
- ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ เหลือร้อยละ 0.1 สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เป็นทางการค้าหรือกำไร
การสูญเสียรายได้
- คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้ภาษีธุรกิจจำเพาะประมาณ 350 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ การดำเนินการตาม ข้อ 1.1 ? ข้อ 1.4 จะดำเนินการโดยการตราร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 1 ฉบับ
1.5 มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
กลุ่มเป้าหมาย
- ผู้มีหน้าที่เสียค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน และตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
วิธีดำเนินงาน
- ให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุด ร้อยละ 0.01 สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดโดยการขาย แลกเปลี่ยน ให้ และการโอนโดยทางมรดกให้แก่ทายาท หรือการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดที่ตั้งอยู่ในท้องที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
การสูญเสียรายได้
- คาดว่าจะสูญเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 230 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะดำเนินการได้โดยการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ตามมาตการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีการโอนและการจำนองห้องชุดตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด รวม 2 ฉบับ
2. มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและผู้ประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย
- ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำหรือใช้เป็นที่ผลิตสินค้าเป็นประจำ
วิธีดำเนินงาน
- กำหนดให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สามารถหักค่าใช้จ่ายค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ณ สถานประกอบกิจการนั้น ได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของค่าใช้จ่ายดังกล่าว สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ตั้งแต่ปี 2564 ถึงปี 2566
การสูญเสียรายได้
- คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะดำเนินการได้โดยการตราร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 1 ฉบับ
3. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน
3.1 มาตรการส่งเสริมการลงทุนในทรัพย์สินของกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย
- ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำหรือใช้เป็นที่ผลิตสินค้าเป็นประจำ
วิธีดำเนินงาน
- กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานะประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สามารถหักรายจ่ายการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าหรือการขายสินค้าหรือการให้บริการในจังหวัดดังกล่าว แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของรายจ่ายดังกล่าว
การสูญเสียรายได้
- คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะดำเนินการได้โดยการตราร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 1 ฉบับ
3.2 มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย
- ผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ซึ่งใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการ
วิธีดำเนินงาน
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
การสูญเสียรายได้
- คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะดำเนินการได้โดยการตราร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 1 ฉบับ
3.3 มาตรการส่งเสริมให้บุคลากรผู้มีความสามารถสูงนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจไปทำงานในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย
- ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นแรงงานฝีมือและผู้เชี่ยวชาญที่อยู่นอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งเข้าไปทำงานประจำในกิจการที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
วิธีดำเนินงาน
- กำหนดให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินซึ่งมีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินอื่น ๆ ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
การสูญเสียรายได้
- คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 60 ล้านบาทต่อปี
3.4 มาตรการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันระหว่างกิจการที่มีศักยภาพนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจกับกิจการที่จัดตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย
- สถานประกอบกิจการที่มีศักยภาพซึ่งจัดตั้งอยู่นอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
วิธีดำเนินงาน
- ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่มีสถานประกอบกิจการอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สามารถหักรายจ่ายเป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายจริงสำหรับรายจ่ายดังนี้
(1) เงินลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นการเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจโดยไม่รวมถึงหุ้นบุริมสิทธิ และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนำเงินลงทุนไปใช้ในการประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น
(2) เงินลงทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และต้องนำเงินลงทุนไปใช้ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น
การสูญเสียรายได้
- คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ การดำเนินการตามข้อ 3.3 - ข้อ 3.4 จะดำเนินการได้โดยการตราร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 1 ฉบับ
4. มาตรการด้านการเงิน
4.1 มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ธ.ก.ส.
กลุ่มเป้าหมาย
- ลูกค้า ธ.ก.ส. ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รายเดิมที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 และมีหนี้คงเหลือ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2563 ประมาณ 38,948 ราย
วิธีดำเนินงาน
- ลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีหนี้คงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ได้รับการพักชำระหนี้ ไม่ต้องชำระต้นเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
- รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนลูกค้า ในส่วนของต้นเงินที่ไม่เกิน 200,000 บาท ที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยชดเชยให้แก่ ธ.ก.ส. ในอัตราดอกเบี้ย MRR - ร้อยละ 1.50
- ดอกเบี้ยในส่วนของต้นเงินที่เกิน 200,000 บาท ลูกค้าต้องรับภาระดอกเบี้ยเอง
งบประมาณ
- รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกรลูกค้าในอัตราดอกเบี้ย MRR - ร้อยละ 1.50 (ปัจจุบัน MRR ร้อยละ 6.50 ต่อปี) คิดเป็นวงเงินปีละ 169.11 ล้านบาท รวมระยะเวลา 3 ปี เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 507.33 ล้านบาท โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามภาระที่เกิดขึ้นจริง
4.2 โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ธอส. ขยายกรอบวงเงินและระยะเวลาดำเนินโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากกรอบวงเงินเดิม 5,000 ล้านบาท เป็น 8,000 ล้านบาท และขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการออกไปอีก 2 ปี จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2565 โดย ธอส. ไม่ขอรับการชดเชยจากรัฐบาล
5. มาตรการด้านประกันภัย
5.1 โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
กลุ่มเป้าหมาย
- ผู้ประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
วิธีดำเนินงาน
- ภาครัฐชดเชยส่วนต่างค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 0.3 - 3 สำหรับการประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยก่อการร้าย และชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 50 สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุของพนักงานที่สถานประกอบการทำประกันภัยให้
งบประมาณ
- งบประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี
5.2 โครงการเมืองต้นแบบ ?สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน?
กลุ่มเป้าหมาย
- ผู้ประกอบการในเขตพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
วิธีดำเนินงาน
- ภาครัฐชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 50 สำหรับการประกันอัคคีภัยการประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน และการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้ผู้ประกอบการ
งบประมาณ
- งบประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564