คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เสนอรายงานประจำปี 2562 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทั้งนี้ คณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในการประชุมครั้งที่ 12/2563 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 รับทราบรายงานดังกล่าวแล้ว (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 22 ที่บัญญัติให้ สวรส. จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แล้วเสนอรายงานประจำปีต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ผลการดำเนินงานที่เด่น
1. แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบยา เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยี
- การประเมินโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการ ซึ่ง สวรส. และทีมวิจัยได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่าง ๆ เช่น (1) การรับยาที่ร้านควรดำเนินการแบบ re-prescription โดยผู้ป่วยที่รับยาที่ร้านยาควรเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่โรงพยาบาลประเมินว่าเหมาะสมไม่ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ก่อน ซึ่งช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ (2) สปสช. ควรพิจารณาเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลที่ต้องการเข้าร่วมโครงการฯ
- การดำเนินโครงการการศึกษาในสหสถาบันของวัสดุนำส่งยาปฏิชีวนะประเภทไฮดรอกซีแอปาไทต์ สำหรับการรักษาการอักเสบติดเชื้อของกระดูกในประเทศไทย โดยวัสดุที่ผลิตขึ้นสามารถนำส่งยาได้หลายประเภทและทำหน้าที่เป็นกระดูกเทียมในตัว โดยไม่ต้องผ่าตัดนำออก
2. แผนงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ
- การดำเนินโครงการศึกษารูปแบบการจ้างงานแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลของภาครัฐในประเทศไทยในระยะ 15 ปีข้างหน้า เพื่อนำไปใช้วางแผนระบบการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพในระยะยาว เช่น ควรจัดสรรตำแหน่งข้าราชการให้กลุ่มวิชาชีพที่มีแนวโน้มที่จะคงอยู่ในภาครัฐนานที่สุดก่อน รวมทั้งควรเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการออกแบบการจ้างงานบุคลากรในพื้นที่ตนเอง
3. แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบบริการสุขภาพ
- การวิจัยเชิงสังเคราะห์เพื่อพัฒนาระบบการวัด วิเคราะห์ ทบทวนและปรับปรุงผลการดำเนินการของระบบการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ โดยองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ เช่น (1) มิติด้านประเภท (หรือเป้าประสงค์) ของบริการสำหรับการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ (2) มิติด้านสถานที่ของการจัดบริการหรือการรับบริการของประชาชน และ (3) มิติของการใช้บริการของประชาชน
4. แผนงานวิจัยและพัฒนาการเงินการคลังสุขภาพ
- การประเมินความเป็นไปได้และความคุ้มค่าของบริการป้องกันการติดเชื้อ HIV ก่อนการสัมผัสเชื้อและการบริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตระยะท้ายในประเทศไทย ผลการวิจัยพบว่า มาตรการการให้ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อมีความคุ้มค่ามาก โดยอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม เท่ากับ 10,600 บาท/DALYS (พบว่า การรักษาใน 1 ปี สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย 10,600 บาท/กลุ่มเสี่ยง 1 ราย) ทั้งนี้ หากให้บริการกับกลุ่มเสี่ยงทุกกลุ่มก็จะเกิดความคุ้มค่าที่สุด
5. แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพ
- การประเมินผลการดำเนินงานของการขับเคลื่อนเขตสุขภาพที่ 10 ผลการวิจัยพบว่า คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ทุกคนเข้าใจบริบท บทบาทหน้าที่ และเป้าหมายในการดำเนินงาน ซึ่งผลงานของ กขป. เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ยังไม่บรรลุตามผลลัพธ์ที่ต้องการ เนื่องจากไม่มีตัวชี้วัดความสำเร็จของแผนงานที่ชัดเจน ทั้งนี้ จะเสนองานวิจัยดังกล่าวต่อ กขป. เขต 10 และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพิจารณาปรับปรุงการดำเนินการของ กขป. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป
6. แผนงานวิจัยและพัฒนากลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
- การปรับปรุงประสิทธิภาพและขยายผลเทคโนโลยี TaWai for Health เพื่อการรายงานและแจ้งเตือนข้อมูลคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพและขยายผลระบบ web application TaWai for Health Version 1.0 ที่ได้พัฒนาต้นแบบเมื่อปี พ.ศ. 2559 และใช้มาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 10 และ 12 โดยระบบดังกล่าวมีความสามารถในการรับรายงานปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพระดับชุมชนใน 3 ลักษณะ คือ
(1) รายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
(2) รายงานการพบผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยและยาชุด และ
(3) รายงานการพบเห็นโฆษณาเกินจริง
ทั้งนี้ ในอนาคตสามารถพัฒนาเครื่องมือและระบบการจัดการเพื่อเสริมการทำงานของภาครัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับประเทศต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564