คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มาตรา 9 (7) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่เสนอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ ในการประชุม ครั้งที่ 25/2563 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบรายงานฯ และให้ ทส. นำเสนอคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ รายงานฯ ได้ใช้หลักการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงตามกรอบแนวคิด Driver-Pressure-State-Im pact-Response: DPSIR) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ปัจจัยขับเคลื่อน (Driver) ประกอบด้วย การขับเคลื่อนจากทิศทางการพัฒนานโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศและต่างประเทศ และทิศทางการพัฒนาประเทศที่ส่งผลต่อทรัพยากรทางทะเล ทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุน การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2562 และนโยบายที่เกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ. 2558 - 2564 การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การดำเนินโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และการดำเนินโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) การนำแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (BLUE Economy) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้กับสิ่งแวดล้อมทางทะเลเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่ส่งผลต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยตรง
2. ภาวะกดดัน (Pressure) ประกอบด้วย
2.1 สถานการณ์การใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่ง และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กิจกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ เกษตรกรรม การท่องเที่ยวทางทะเล การขนส่งและพาณิชย์นาวี และชุมชนชายฝั่ง แต่มีบางกิจกรรมที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ นาเกลือ การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยรวมกิจกรรมการใช้ประโยชน์บนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีแนวโน้มของปริมาณการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมากขึ้นจนทำให้เกิดความเสื่อมโทรมมากขึ้นด้วย
2.2 สถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในระดับโลกและระดับภูมิภาคที่ส่งผลต่อสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้เข้าร่วมดำเนินงานตามเป้าหมายและวิธีการที่กำหนดเองเรียกว่า ?แผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ?(Nationally Appropriate Mitigation Actions: NAMAs) โดยแสดงเจตจำนงที่จะลดก๊าซเรือนกระจกเท่ากับร้อยละ 7 - 20 ภายในปี ค.ศ. 2020 และ ?การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด?(Nationally Determined Contributions: NDCs) โดยระบุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ขั้นต่ำที่ร้อยละ 20 จากกรณีปกติ และกำหนดเป้าหมายขั้นสูงที่ร้อยละ 25
3. สถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง (States)
3.1 สถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
1) ปะการัง
พื้นที่แนวปะการังใน 17 จังหวัด พบว่า แนวปะการังอยู่ในสภาพ สรุปได้ดังนี้
สภาพแนวปะการัง/ ฝั่งอ่าวไทย
สมบูรณ์ดีมาก ? สมบูรณ์ดี ร้อยละ 38.85
สมบูรณ์ปานกลาง ร้อยละ 21.32
เสียหาย ? เสียหายมาก ร้อยละ 39.83
สภาพแนวปะการัง / ฝั่งอันดามัน
สมบูรณ์ดีมาก ? สมบูรณ์ดี ร้อยละ 23.48
สมบูรณ์ปานกลาง ร้อยละ 42.32
เสียหาย ? เสียหายมาก ร้อยละ 34.20
ทั้งนี้ แนวปะการังฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชลบุรีและประจวบคีรีขันธ์มีสภาพเสื่อมโทรมที่สุด รองลงมาคือ จังหวัดตราด และฝั่งอันดามัน จังหวัดพังงามีแนวปะการังเสื่อมโทรมที่สุด รองลงมาคือ จังหวัดภูเก็ต และสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ปี 2562 ถือว่าไม่รุนแรง
2) ปะการังเทียม
ในช่วงปี 2521 - 2560 มีการวางปะการังเทียม 8,425 แห่ง และในปี 2560 มีการวางปะการังเทียมเพิ่มอีก 145 แห่ง โดยฝั่งอ่าวไทยมีการวางปะการังเทียมมากที่สุด คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 1,122 แห่ง ส่วนฝั่งอันดามันมีการวางปะการังเทียมมากที่สุด คือ จังหวัดพังงา 542 แห่ง
3) หญ้าทะเล
ประเทศไทยมีพื้นที่หญ้าทะเลทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย รวม 98,912 ไร่ โดยในปี 2561 สถานภาพส่วนใหญ่สมบูรณ์ปานกลาง เพิ่มจากร้อยละ 56.0 เป็นร้อยละ 65.6 เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต และพบว่า แหล่งหญ้าทะเลหลายพื้นที่มีความสมบูรณ์ลดลง
4) ทะเลสาบ
(สงขลา) มีพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดสงขลาและพัทลุง รวม 651,250 ไร่ ในช่วงปี 2558 - 2559 สถานภาพทะเลสาบในจังหวัดสงขลาและพัทลุงมีความเสื่อมโทรมใกล้เคียงกัน และพบการวางเครื่องมือประมงขวางทางการไหลของน้ำ รวมทั้งการปล่อยสารอาหารจากการปศุสัตว์บริเวณชายฝั่งลงสู่ทะเลสาบทำให้เกิดการทับถมและทะเลสาบตื้นเขินมากยิ่งขึ้น
5) สัตว์ทะเลหายาก และใกล้สูญพันธุ์
สัตว์ทะเลหายากในน่านน้ำไทย ได้แก่
- เต่าทะเล พบว่า ปี 2561 จำนวนครั้งของการวางไข่เฉลี่ยของเต่าตนุลดลง ส่วนเต่ากระเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และพบการขึ้นมาวางไข่ของเต่ามะเฟือง จำนวน 2 รัง หลังจากที่ไม่มีรายงานการพบเห็นมาหลายปี
- พะยูน พบว่า ปี 2561 มีกาพบเห็นพะยูนประมาณ 240 ตัว โดยจังหวัดตรังจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยมากที่สุด และพบอัตราการเกยตื้นหรืออัตราการตายเพิ่มมากขึ้น
- โลมาและวาฬ พบว่า ปี 2561 พบโลมา 2,283 ตัว โดยพบในฝั่งอ่าวไทยมากกว่าฝั่งอันดามันประมาณ 2 เท่า และในปี 2559 พบวาฬบรูด้า 65 ตัว
6) ป่าชายเลน
ในช่วง 2504 - 2557 พบว่า พื้นที่ป่าชายเลนได้ถูกบุกรุกทำลายไปมาก จากปี 2504 มีพื้นที่ป่าชายเลน 2,299,375 ไร่ ในปี 2557 พบว่า มีพื้นที่ป่าชายเลนเหลือเพียง 1,534,584.74 ไร่ (ลดลง 764,790.26 ไร่) แต่จากการดำเนินนโยบายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการประกาศยกเลิกสัมปทานการทำไม้ป่าชายเลนเมื่อปี 2546 ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนเริ่มฟื้นตัวและมีสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น 17 จังหวัด โดยพบว่า พื้นที่ป่าชายเลนฝั่งอ่าวไทยเพิ่มขึ้น 467.94 ไร่ และฝั่งอันดามันเพิ่มขึ้น 33.68 ไร่
7) ป่าชายหาด
สภาพป่าชายหาดหลายพื้นที่ถูกทำลายและปรับเปลี่ยนสภาพเพื่อรองรับกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวจนไม่เหลือสภาพธรรมชาติดั้งเดิม ทำให้ระบบนิเวศป่าชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ดังนั้น การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมของระบบนิเวศป่าชายหาดในประเทศจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
8) พื้นที่ชุ่มน้ำ
ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำ ประกอบด้วย ป่าชายเลน ป่าพรุ หนอง บึง ทะเลสาบ และแม่น้ำกระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมเนื้อที่ประมาณ 22,885,100 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.75 ของพื้นที่ประเทศ ปัจจุบันมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์) ของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ รวม 14 แห่ง
9) พื้นที่ป่าพรุ
ในประเทศไทย
มีพื้นที่ป่าพรุที่คงสภาพในประเทศไทยประมาณ 20,922.99 ไร่ แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทย 20,135.63 ไร่ และฝั่งอันดามัน 787.36 ไร่
10) หาดทราย หาดโคลน และหาดหิน
มีความยาว 1,630.75 กิโลเมตร จำนวน 357 แห่ง ความยาวฝั่งอ่าวไทย 1,163 กิโลเมตร และฝั่งอันดามัน 468 กิโลเมตร
3.2 สถานภาพคุณภาพสิ่งแวดล้อม สาเหตุของปัญหามลพิษทางน้ำเกิดจากการระบายน้ำที่ไม่ได้รับการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำ ในส่วนสถานการณ์คุณภาพน้ำทะเลในรอบ 5 ปี (ปี 2557 - 2561) พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในสถานะดีและมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน ปัจจัยที่ส่งให้คุณภาพน้ำมีแนวโน้มดีขึ้น คือ การบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมการระบายน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษและการตระหนักถึงผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางน้ำมากขึ้นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน นอกจากนี้ในช่วงปี 2557 - 2559 เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีส่วนใหญ่อยู่ในฝั่งอ่าวไทยตอนบน ปัญหาขยะทะเล ในปี 2561 พบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด จำนวน 11.47 ล้านตัน มีการกำจัดที่ถูกต้อง 6.73 ล้านตัน/ปี คิดเป็นร้อยละ 59 ในปริมาณนี้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ 2.93 ล้านตัน/ปี คิดเป็นร้อยละ 25 และในช่วงปี 2558 - 2561 เกิดการรั่วไหลของน้ำมันทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ รวม 15 ครั้ง ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณท่าเทียบเรือ
3.3 สถานภาพด้านการกัดเซาะชายฝั่ง ปี 2561 จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง พบว่า ร้อยละ 87.71 ของพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งทั่วประเทศได้รับการแก้ไขแล้ว ซึ่งโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด และเขื่อนป้องกันริมตลิ่งทะเล ระยะทางประมาณ 239.87 กิโลเมตร และ 224.34 กิโลเมตร ส่วนในพื้นที่หาดโคลนเป็นการปักเสาดักตะกอน ระยะทาง 187.04 กิโลเมตร ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งเบื้องต้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ การทำลายแนวป้องกันการกัดเซาะตามธรรมชาติ การกัดเซาะจากการรบกวนหรือเปลี่ยนแปลงสภาพตามธรรมชาติและการกัดเซาะเนื่องจากสาเหตุอื่น เช่น การเปลี่ยนแปลงบริเวณปากแม่น้ำ
4. สถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง 24 จังหวัด พบว่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัดมีความเสื่อมโทรมลงทั้งปริมาณและคุณภาพ แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นในบางทรัพยากร เช่น ป่าชายเลน คุณภาพน้ำทะเล และสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสถานการณ์โดยรวมทั้งประเทศ ทั้งนี้ การเสื่อมโทรมมากขึ้น หรือสถานภาพดีขึ้นของสถานการณ์ดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับทรัพยากรและกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ปรากฏในจังหวัดนั้น ๆ สำหรับสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลาได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่สุด
5. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
5.1 การสร้างองค์ความรู้และติดตามการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทรัพยากร เช่น ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำทิ้ง การจัดการขยะทะเล การฟื้นฟูระบบนิเวศ และเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะ
5.2 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคธุรกิจ เช่น จัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชน การสนับสนุนกิจกรรม CSR ที่เหมาะสมกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร การจัดกิจกรรมให้ความรู้/ความตระหนักที่ถูกต้องกับภาคประชาชน ตลอดจนการจัดทำข้อตกลงชุมชนเพื่ออนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
5.3 การอนุรักษ์และเฝ้าระวังตรวจตราทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เช่น การตรวจตราเฝ้าระวัง การทำเครื่องหมายแนวเขต การกำหนดเส้นชายฝั่งเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงและติดตามการดำเนินคดีต่าง ๆ
5.4 การฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน แนวปะการัง หญ้าทะเล ชายหาด และการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก
5.5 การป้องกัน เฝ้าระวัง และส่งเสริมการลดผลกระทบจากแผ่นดินและเกาะ โดยใช้กลไกคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด การจัดทำรายงาน สถานการณ์ และจัดทำนโยบายและแผนระดับจังหวัด
5.6 การประกาศพื้นที่อนุรักษ์ และคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ พื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง และพื้นที่กัดเซาะชายฝั่ง
5.7 การปรับปรุง/ออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
5.8 การเข้าร่วมกิจกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564