หลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

ข่าวการเมือง Tuesday February 9, 2021 23:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

ทั้งนี้ ทส. เสนอว่า หลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จัดทำขึ้นเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนงานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาแผนงานโครงการและงบประมาณ ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง สำหรับสำนักงบประมาณต้องนำไปพิจารณาเพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องตามหลักวิชาการ ลดความซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน และเกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง อันจะส่งผลให้เกิดความมั่นคง และยั่งยืนต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ปัจจุบันพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลของประเทศไทย ยังคงประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และเกิดความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยหลักแนวคิดทางวิชาการ มาตรการที่เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ อนึ่ง หลายหน่วยงานอยู่ระหว่างการจัดเตรียมแผนงาน/โครงการเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีเอกภาพและเกิดความยั่งยืน จึงจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการที่ชัดเจนและเหมาะสมสำหรับดำเนินการโดยด่วน จึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดรับทราบหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง สำหรับดำเนินการโดยด่วนต่อไป

สาระสำคัญ

หลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. วัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้เป็นไปตามหลักวิชาการ โดยมุ่งเน้นการดำเนินการเป็นระบบหาด ซึ่งต้องคำนึงถึงพลวัตของการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งและสมดุลตะกอน สภาพเศรษฐกิจสังคม ศักยภาพการพัฒนาของพื้นที่ สิ่งแวดล้อม และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการมีความเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

2. หลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 7 กลุ่มปัจจัยหลัก 54 ปัจจัยย่อย ซึ่งครอบคลุม ทั้งปัจจัยด้านกายภาพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม ศักยภาพการพัฒนาของพื้นที่ รวมทั้งโครงสร้างป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ ซึ่งทำให้สามารถกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ได้ตลอดแนวชายฝั่งของประเทศไทย ระยะทาง 3,151 กิโลเมตร โดยจำแนกออกเป็น 4 แนวทาง ดังนี้

2.1 การปรับสมดุลชายฝั่งโดยธรรมชาติ คือ การคงไว้ซึ่งสภาวะสมดุลพลวัตหรือกระบวนการชายฝั่งตามธรรมชาติ เพื่อปล่อยให้ชายฝั่งที่เกิดการกัดเซาะได้มีการปรับสมดุลและฟื้นคืนสภาพธรรมชาติด้วยตนเอง โดยการออกมาตรการรักษาความสมบูรณ์ของสภาพธรรมชาติชายฝั่ง และกำหนดไม่ให้มีกิจกรรมของมนุษย์ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือรบกวนเสถียรภาพของชายฝั่ง โดยมีระยะชายฝั่งที่อยู่ในแนวทางการปรับสมดุลชายฝั่งโดยธรรมชาติ 2,296.70 กิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 72.88 ของความยาวชายฝั่งทะเลทั้งประเทศ รูปแบบวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสม คือ การกำหนดพื้นที่ถอยร่น การปลูกป่า และการฟื้นฟูชายหาด

2.2 การฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่ง คือ การดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะไปแล้วฟื้นคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ และสามารถกลับมาให้บริการของระบบนิเวศได้เหมือนธรรมชาติ โดยมีระยะชายฝั่งที่อยู่ในแนวทางการฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่ง 389.34 กิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12.36 ของความยาวชายฝั่งทะเลทั้งประเทศ รูปแบบวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสม คือ การกำหนดพื้นที่ถอยร่น การปลูกป่า การฟื้นฟูชายหาด และการปักเสาไม้ดักตะกอนเพื่อปลูกป่าชายเลน

2.3 การป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คือ การดำเนินกิจกรรมใด ๆ เพื่อป้องกันพื้นที่ชายฝั่งที่มีการกัดเซาะให้มีอัตราการกัดเซาะลดลง โดยมีระยะชายฝั่งที่อยู่ในแนวทางการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 446.67 กิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 14.18 ของความยาวชายฝั่งทะเลทั้งประเทศ รูปแบบวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสม คือ การกำหนดพื้นที่ถอยร่น การปลูกป่า การฟื้นฟูชายหาดการปักเสาไม้ดักตะกอนเพื่อปลูกป่าชายเลน เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งรอดักทราย เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล และกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด

2.4 การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คือ การดำเนินกิจกรรมใด ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในบริเวณชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะ ทั้งการใช้รูปแบบที่สอดคล้องหรือเลียนแบบธรรมชาติหรือโครงสร้างทางวิศวกรรม ตลอดจนการแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง มีระยะชายฝั่งที่อยู่ในแนวทาง การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 18.42 กิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.58 ของความยาวชายฝั่งทะเลทั้งประเทศ รูปแบบวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสม คือ การกำหนดพื้นที่ถอยร่น การปลูกป่า การฟื้นฟูชายหาด การปักเสาไม้ดักตะกอนเพื่อปลูกป่าชายเลน เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง รอดักทราย เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล กำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด และการรื้อถอน

ทั้งนี้ ภาพรวมของพื้นที่ชายฝั่งประเทศไทย มีแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะส่วนใหญ่เป็นการปรับสมดุลชายฝั่งโดยธรรมชาติ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 72.88 ของความยาวชายฝั่งทะเล ทั้งประเทศ รองลงมาเป็นการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คิดเป็นร้อยละ 14.18 ของความยาวชายฝั่งทะเลทั้งประเทศ ส่วนการฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่งและการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 12.36 และ 0.58 ของความยาวชายฝั่งทะเลทั้งประเทศ ตามลำดับ

3. ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คือ ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล อบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ที่จะให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างเป็นเอกภาพ มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน และประชาชนในท้องถิ่น อีกทั้งมีกรอบแนวทางและรูปแบบวิธีการที่เหมาะสมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตามหลักวิชาการ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ