เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วนว่าด้วยการบริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เหมาะสมกับสังคมไทย ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วน ว่าด้วยการบริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เหมาะสมกับสังคมไทย ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วน ว่าด้วยการบริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เหมาะสมกับสังคมไทย ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการการศึกษาได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะกรณีที่ไม่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และกรณีที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในมาตรการเร่งด่วน และมาตรการระยะยาว
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ศธ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ศธ. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานแล้ว เห็นว่า รายงานการพิจารณาศึกษาดังกล่าวมีความเหมาะสมในอันที่จะเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายสนับสนุนและการนำนโยบายไปปฏิบัติ ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางในการปรับปรุงระบบการบริหารการจัดการศึกษาในระดับต่าง ๆ ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือในสถานการณ์อื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันที่เหมาะสมกับสังคมไทยให้มีคุณภาพต่อไป ส่วนการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วน ว่าด้วยการบริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของ ศธ. ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้กำหนดมาตรการระยะยาวเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว
จึงได้เสนอผลการพิจารณาฯ มาเพื่อดำเนินการ
สรุปผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วนว่าด้วยการบริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เหมาะสมกับสังคมไทย ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา
มาตรการเร่งด่วน
1. ศธ. ควรดำเนินการด้านนโยบาย และการกระจายอำนาจ และด้านการบริหารจัดการ
ศธ. กระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา โดยเปิดโอกาสให้ร่วมกันตัดสินใจ ร่วมกันวางแผนเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบท บนพื้นฐานของความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนภายใต้ ?ความปกติใหม่? (New Normal?
การบริหารจัดการการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกล โดยดำเนินการจัดประชุมทางไกล เพื่อสร้างความเข้าใจถึงแนวทางและจัดเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนโดยกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนระบบทางไกล แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม ดำเนินการสำรวจความพร้อมในด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การขออนุมัติการใช้ช่องรายงการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมขออนุมัติเผยแพร่การเรียนการสอนจากห้องเรียนต้นทางผ่านโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)
- ระยะที่ 2 การทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล ดำเนินการทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกลในระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล โดยการแพร่สัญญาณจาก DLTV
- ระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่คลี่คลาย ดำเนินการสอนด้วยระบบทางไกลผ่าน DLTV และระบบออนไลน์ หากสถานการณ์คลี่คลาย ดำเนินการเรียนการสอนปกติในโรงเรียนโดยให้เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
- ระยะที่ 4 การทดสอบและศึกษาต่อ ดำเนินการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบและคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ
2. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้ติดตามการสนับสนุนงบประมาณและความพร้อมของสถานศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ
- ดำเนินงานตามนโยบายและแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกลภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งดำเนินการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลพื้นฐาน เพื่อประกอบวางแผนการดำเนินงานให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมในสถานศึกษาทุกจังหวัด
- การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและพัฒนาผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมการผลิตสื่อและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนทางไกลของโรงเรียน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- ผู้ว่าราชการจังหวัดมีมาตรการติดตามเฝ้าระวัง พร้อมให้รายงานผลอย่างจริงจัง ส่งผลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการสอนแบบปกติและแบบทางไกล
3. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรติดตามความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของผู้เรียนในด้านการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี
- จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจ (COVID-19) ทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้นำไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงาน โดยเป็นศูนย์ประสานงานระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน เพื่อชี้แจงนโยบายและมาตรการให้กับสถานศึกษาในสังกัดและบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดของโรค กำกับ ติดตามนโยบายและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ บริหารจัดการข้อมูลที่ได้รับรายงานจากศูนย์และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันและแนวโน้มสถานการณ์ในอนาคต และประชาสัมพันธ์ให้กับสถานศึกษา เพื่อสร้างความรู้เท่าทัน และความเข้าใจที่ตรงกันในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
- จัดประชุมชี้แจงแผนการดำเนินงานให้ทุกฝ่ายรับทราบและเข้าใจตรงกัน มีการแต่งตั้งคณะทำงาน ผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจนในการดำเนินงานและการติดตาม ดูแล ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาหรือสนับสนุน การดำเนินงานการจัดการเรียนการสอนทางไกล
- สำรวจและประเมินความพร้อมของสถานศึกษาตามมาตรการที่ส่วนราชการกำหนด โดยต้องสอดคล้องกับคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษา และมาตรการการป้องกันโรคตามที่ส่วนราชการกำหนด
4. สถานศึกษาควรจัดการเรียนการสอนทั้งแบบ Online และ Onsite โดยตระหนักถึงความสำคัญของการใช้หลักสูตรเดียวกันตามที่ ศธ. กำหนด
- การจัดการเรียนการสอนแบบปกติ (Onsite) สำหรับสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 120 คน หรือมีจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนในระดับปฐมวัยและประถมศึกษาไม่เกิน 20 คนต่อห้อง หรือจำนวนนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายไม่เกิน 25 คนต่อห้องสามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบปกติได้ แต่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการของ สธ. 6 ข้อ ได้แก่ 1) วัดไข้ 2) ใส่หน้ากาก 3) ล้างมือ 4) เว้นระยะห่าง 5) ทำความสะอาด และ 6) ลดแออัด หากสถานศึกษามีจำนวนนักเรียนเกินขนาดห้องเรียนตามที่กำหนด ให้จัดการเรียนการสอนรูปแบบปกติได้ในลักษณะการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน เช่น การสลับชั้นมาเรียนของนักเรียน แบบสลับชั้นมาเรียน แบบสลับวันคู่ - วันคี่ การสลับกลุ่มนักเรียนแบบแบ่งนักเรียนในห้องเรียนเป็น 2 กลุ่ม เป็นต้น
- การเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online) เป็นการเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชัน การจัดการเรียนการสอนแบบนี้เหมาะสำหรับครูและนักเรียนที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ โดยมีทั้งหมด 4 ช่องทาง 1) เว็บไซต์ DEEP ผ่าน www.deep.go.th 2) เว็บไซต์ DLTV ผ่าน www.dltv.ac.th 3) เว็บไซต์ Youtube ผ่าน www.youtube.com ช่อง DLTV1 Channel - DLTV15 Channel และ 4) แอปพลิเคชัน DLTV บน Smartphone / Tablet
5. ครูและบุคลากรทางการศึกษา ควรให้สิทธิครูได้ออกแบบการจัดการเรียนการสอนตามสถานการณ์และความพร้อมของห้องเรียน
- เตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการเรียนการสอน ดูแลด้านสุขอนามัยของนักเรียนตามหลักของกรมอนามัย สธ. ประสานผู้ปกครอง และนักเรียนเรื่องช่องทางการเรียนการสอนทางไกล การนัดหมายการทำกิจกรรม ใบงาน หรืองานที่ครูมอบหมายต่าง ๆ ถ้าหากผู้ปกครองมีศักยภาพสามารถช่วยครูจัดการเรียนการสอนได้ ให้ร่วมกับผู้ปกครองวางแผนการเรียนรู้ สำหรับการเรียนผ่านระบบทางไกลตามช่องทางต่าง ๆ ให้นักเรียนเรียนรู้ตามบริบทความพร้อมของนักเรียน
6. ผู้ปกครองควรทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการรับรู้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างสถานศึกษากับผู้เรียนเพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง
- ติดตามข่าวสารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากแหล่งที่เชื่อถือได้ สังเกตอาการป่วยของนักเรียน หากมีอาการให้รีบพาไปพบแพทย์ และควรแยกเด็กไม่ให้ไปเล่นกับคนอื่น ให้พักผ่อนอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ กรณีมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคโควิด-19 หรือกลับจากพื้นที่เสี่ยงอยู่ในช่วงกักตัว ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
- จัดหาของใช้ส่วนตัวให้นักเรียนอย่างเพียงพอในแต่ละวัน และทำความสะอาดทุกวัน กำกับดูแลนักเรียนให้ล้างมือบ่อย ๆ จัดเตรียมอาหารปรุงสุก ใหม่
- ผู้ปกครองและโรงเรียนต้องขอความร่วมมือกับคนขับรถในการหามาตรการความปลอดภัยในขณะที่นักเรียนอยู่บนรถ โดยเน้นมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
- กรณีที่มีการจัดการเรียนการสอนทางไกล ออนไลน์ ผู้ปกครองควรให้ความร่วมมือกับครู ในการดูแลจัดการสอนแก่นักเรียน เช่น การส่งการบ้าน การร่วมทำกิจกรรม เป็นต้น
7. นักเรียน/ผู้เรียน/นักศึกษา ต้องติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อจะได้ทันต่อการเตรียมการวางแผนศึกษาเล่าเรียนผ่านวิธีต่าง ๆ
- ให้มีการปฏิบัติตนตามมาตรการความปลอดภัยของ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ออกจากบ้าน มาเรียน อยู่ในโรงเรียน จนกลับถึงบ้าน ในวันที่เรียนอยู่ที่บ้านต้องเตรียมหนังือ อุปกรณ์การเรียนให้พร้อมในการเรียนทางไกล การเรียนผ่านระบบทางไกลตามช่องทางต่าง ๆ ให้นักเรียนตามบริบทความพร้อมของนักเรียน โดยต้องนัดหมายกับครูในการเรียนรู้การทำกิจกรรม ใบงาน การบ้าน หรืองานที่ครูมอบหมายต่าง ๆ
8. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่น ในพื้นที่ที่ตั้งสถานศึกษา ต้องจัดให้มีจุดคัดกรองสุขภาพอนามัยและอุณหภูมิหน้าประตูก่อนเข้าสถานศึกษาทุกวัน
- สถานศึกษาต้องประสานหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งที่เป็นและไม่เป็นหน่วยงานทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือช่วยสนับสนุนภารกิจของสถานศึกษา ตามมาตรการสำคัญที่กำหนดไว้ตามความเหมาะสม เช่น ด่านควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด การท่าอากาศยานตรวจคนเข้าเมือง ทำหน้าที่คัดกรองนักเรียนที่เดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ สถานพยาบาลทุกระดับทุกสังกัด และสถานพยาบาลเอกชน เตรียมพื้นที่รองรับผู้ป่วยและจัดระบบป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในสถานศึกษา เป็นต้น
มาตรการระยะยาว
ศธ. ควรจัดทำหลักสูตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคติดต่อชนิดอื่น ๆ ที่อาจจะอุบัติขึ้นใหม่ในอนาคต และควรจัดหารูปแบบที่เหมาะกับการศึกษาไทยในอนาคตด้วย
1. กำหนดมาตรการการเปิด-ปิด โรงเรียนให้สอดคล้อง และยืดหยุ่นตามความรุนแรงของการระบาดของโรค (COVID-19) โดยวางแนวทางให้พื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่องใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาต้องปิดโรงเรียน และให้นักเรียนเรียนทางไกลที่บ้าน ในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ประปรายหรือไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาให้พิจารณาเปิดโรงเรียนได้ภายใต้ข้อจำกัดความพร้อมของห้องเรียน และความพร้อมในการเรียนทางไกลของนักเรียน และกำหนดให้แนวทางการเปิด-ปิด โรงเรียนยืดหยุ่นตามสถานการณ์ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในกรณีที่สถานการณ์ระบาดรุนแรงขึ้น และสถานการณ์ผ่อนคลายลง
2. ปรับปรุงห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนปลอดภัย ห่างไกล Covid-19 โดยกำหนดแนวทางให้โรงเรียนทุกแห่งสำรวจความพร้อมของห้องเรียน โดย ศธ. ประสานงานกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา กำหนดลักษณะของห้องเรียนที่เหมาะสม เช่น จัดระยะห่างระหว่างนักเรียนอย่างน้อย 1 เมตร และมีอากาศหมุนเวียนอย่างน้อย 10 เท่าของปริมาณอากาศในห้องเรียนเพื่อให้โรงเรียนทุกแห่งได้มีการประเมินความพร้อมด้านกายภาพของตน ทั้งนี้ ศธ. ควรสื่อสารอย่างชัดเจน โดยกำหนดแนวทางที่อิงกับแบบแปลนอาคารเรียนมาตรฐาน หรือในกรณีที่โรงเรียนไม่ได้ใช้แบบแปลนมาตรฐานควรแจ้งให้โรงเรียนทราบถึงมาตรฐานของการระบายอากาศอย่างชัดเจน
3. สำรวจความพร้อมการเรียนการสอนทางไกลของเด็ก เพื่อประเมินความเสี่ยง ศธ. หรือหน่วยงานต้นสังกัดโรงเรียนควรประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลพื้นฐานครัวเรือนนักเรียนมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อจัดกลุ่มตามระดับความเสี่ยงในการเข้าถึงการเรียนทางไกล โดยแบ่งนักเรียนเป็น 3 กลุ่ม โดย นักเรียนมีอุปกรณ์ดิจิทัลพร้อมอินเทอร์เน็ตที่บ้าน กลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่ นักเรียนที่ไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตที่บ้าน แต่เข้าถึงไฟฟ้าได้ และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กที่ไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตที่บ้าน และไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งนี้ ควรใช้ข้อมูลเพื่อประเมินความพร้อมของผู้ปกครองด้วย เช่น เป็นนักเรียนอยู่กับพ่อแม่หรือไม่ เพื่อวางแผนในการสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ครอบครัว ที่ผู้ปกครองไม่พร้อมสนับสนุนบุตรหลานในกรณีที่ต้องเรียนที่บ้าน
4. จัดเตรียมอุปกรณ์ให้แก่นักเรียนที่มีความเสี่ยงที่จะเสียโอกาสจากการเรียนทางไกล ในกรณีที่โรงเรียนต้องปิดเพราะพื้นที่มีการระบาดรุนแรงหรือโรงเรียนที่ไม่สามารถจัดชั้นเรียนในห้องเรียนแก่นักเรียนทุกคนได้ ศธ. และหน่วยงานต้นสังกัดควรจัดเตรียมอุปกรณ์ รวมทั้งสื่อการเรียนการสอนแก่นักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น จัดเตรียมแท็บเล็ต (Tablet) พร้อมเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในการยืมเรียนแก่นักเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์ที่บ้านแต่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนออนไลน์ได้ และจัดเตรียมสื่อแห้งในรูปชุดสื่อการเรียนรู้ (Learning Package) สำหรับนักเรียนที่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้
5. ใช้มาตรการทางสาธารณสุข และมาตรการทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอน ในกรณีที่โรงเรียนสามารถจัดการสอนได้ หรือใช้การสอนแบบผสม ควรบังคับใช้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดตามแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานศึกษา เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค (COVID-19) ที่กำหนดโดย ศธ. ร่วมกับองค์กร UNICEF อย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ให้นักเรียน ครู หรือเจ้าหน้าที่ที่เจ็บป่วยมาโรงเรียน กำหนดให้มีการล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ และรณรงค์ส่งเสริมให้ใส่หน้ากากอนามัย
6. สื่อสารให้ผู้ปกครองทราบถึงความจำเป็นของมาตรการเปิด - ปิดโรงเรียน รวมทั้งให้คู่มือสนับสนุนนักเรียนสำหรับการเรียนทางไกล โดยให้ผู้ปกครองทราบว่ารัฐบาลมีแนวทางการเปิดโรงเรียนอย่างไรเพื่อให้ผู้ปกครองสามารถประเมินสถานการณ์ในอนาคตได้ ศธ. ได้จัดทำคู่มือสำหรับผู้ปกครอง สนับสนุนบุตรหลานในกรณีเรียนที่บ้าน เช่น วิธีการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อเรียนออนไลน์ แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นหรือคู่มือการใช้สื่อการเรียนรู้
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564