ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการศึกษาหลักสูตรอาชีวศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ข่าวการเมือง Wednesday February 10, 2021 00:21 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการศึกษาหลักสูตรอาชีวศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในอนาคต ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการศึกษาหลักสูตรอาชีวศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในอนาคต ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป

เรื่องเดิม

1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการศึกษาหลักสูตรอาชีวศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในอนาคต ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการการศึกษาเห็นว่าการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาควรมีการวางแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาและพัฒนากำลังสังคม มีการจัดการเรียนการสอนแบบ Onsite และมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหากรณีที่ไม่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น และกรณีที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น

2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ศธ. รับรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ข้อเท็จจริง

ศธ. ได้พิจารณาศึกษารายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะตามข้อ 2. แล้วเห็นว่า กรณีที่ไม่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น สถานศึกษาอาชีวศึกษาทุกแห่งดำเนินการจัดการศึกษาในรูปแบบ Onsite เพื่อให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับครูผู้สอนเป็นการจัดการศึกษาในลักษณะเต็มรูปแบบตามหลักสูตรอาชีวศึกษา และกรณีที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น สถานศึกษาอาชีวศึกษาดำเนินการจัดการศึกษาโดยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบ Onsite ควบคู่ไปกับรูปแบบ On-Air และแบบ Online โดยสถานศึกษาบูรณาการจัดการศึกษาตามหลักสูตรในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมและความพร้อมของสถานศึกษาอาชีวศึกษาแต่ละแห่ง โดยการจัดเตรียมความพร้อมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสถานศึกษาการจัดการเรียนการสอนมีการจัดทำคู่มือสร้างความเข้าใจและการเรียนการสอนตามหลักสูตร มีการพัฒนาครูผู้สอนและพัฒนาผู้เรียน และ สอศ. จะนำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เรื่อง การบูรณาการการเรียนการสอนในรายวิชา หมวดวิชา กิจกรรมเสริมหลักสูตร และโครงการพัฒนาทักษะวิชาชีพไปประยุกต์ใช้ให้สัมพันธ์และสอดคล้องกับสภาวการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในอนาคตอย่างต่อเนื่องทุกภาคเรียน และการบริหารจัดการหลักสูตรอาชีวศึกษาให้เอื้อต่อการเรียนรู้ในวิถีความปกติใหม่ (New Normal) เพื่อให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะและตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการและตลาดแรงงานได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

จึงได้เสนอผลการพิจารณาฯ มาเพื่อดำเนินการ

สรุปผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการศึกษาหลักสูตรอาชีวศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในอนาคต

ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ

กรณีที่ไม่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น

ผลการพิจารณาศึกษา

สถานศึกษาอาชีวศึกษาทุกแห่งดำเนินการจัดการศึกษาในรูปแบบ Onsite เพื่อให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับครูผู้สอนเป็นการจัดการศึกษาในลักษณะเต็มรูปแบบตามหลักสูตรอาชีวศึกษา ทั้งการจัดการศึกษาภาคทฤษฎีในสถานศึกษา และการฝึกภาคปฏิบัติหรือฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานศึกษา และสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุตัวชี้วัดและวัตถุประสงค์ในการจัดหลักสูตรการจัดการศึกษา เพื่อให้มีสมรรถนะ มีคุณสมบัติและมีคุณภาพที่สอดคล้องตามที่หลักสูตรกำหนด

กรณีที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น

ผลการพิจารณาศึกษา

การเตรียมความพร้อมของ สอศ.

(1) แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับ ติดตาม และแก้ปัญหาการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาอาชีวศึกษา และการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งมีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบดำเนินงานในแต่ละภาคครอบคลุมทุกจังหวัดที่มีสถานศึกษาสังกัด สอศ.

(2) การพัฒนาชุดการเรียนออนไลน์ (Online Course) ซึ่งพัฒนาจากรายวิชาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ในหมวดสมรรถนะแกนกลางและรายวิชาหมวดสมรรถนะวิชาชีพ เฉพาะสาขาวิชาที่มีผู้เรียนจำนวนมาก จำนวน 195 รายวิชา

การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษา

(1) คำนึงถึงความปลอดภัยตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในอนาคต รวมถึงแนวทางการป้องกัน เช่น มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทั้งครู บุคลากรในโรงเรียน และผู้เรียน ก่อนเข้าสถานศึกษา การใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง กระจายให้มีผู้เรียนในห้องเรียนลดลง โดยจัดตารางเรียนให้เหมาะสม

(2) จัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้ของ สอศ. ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เผยแพร่ให้กับสถานศึกษาเพื่อให้ครู นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรในสถานศึกษา เพื่อสร้างความตระหนักรู้เท่าทัน และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(3) จัดการเรียนการสอนโดยให้ความรู้กับผู้เรียนครบตามหลักสูตร โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้มีคุณภาพหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การใช้แบบเรียนหรือเอกสารประกอบการสอนที่บ้าน โดยครูผู้สอนมีระบบออนไลน์ที่ติดต่อสื่อสารถึงผู้เรียนได้หลากหลายช่องทาง เช่น Line Facebook SMS การใช้ชุดการเรียนออนไลน์ (Online Course) ในรูปแบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) และแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ (DEEP) และการใช้ระบบการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ของสถานศึกษา ได้แก่ การประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันที่สถานศึกษาสร้างขึ้น หรือที่มีใช้แพร่หลายในสังคมออนไลน์ รวมถึงการผลิตบทเรียนออนไลน์ด้วยตนเอง และการใช้ห้องเรียนที่มีระบบการเรียนการสอนออนไลน์ของสถานศึกษา ซึ่งสามารถจัดการเรียนการสอนแบบ Realtime ได้

(4) สร้างความตระหนักและให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในอนาคต และสร้างโอกาสในการฝึกวิชาชีพโดยใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษา ครูผู้สอน นักเรียน นักศึกษา ร่วมกันผลิตหน้ากากผ้า Face Shield เจลแอลกอฮอล์ เพื่อใช้ในการป้องกันโรค

  • การพัฒนาครูผู้สอน ด้านการใช้เทคโนโลยี พัฒนาครูอาชีวศึกษาให้สร้างบทเรียนออนไลน์ สื่อการสอน เทคนิควิธีสอน และการประเมินผลที่เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์
  • การพัฒนาผู้เรียน โดยพัฒนาทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้วุฒิบัตรที่ลงนามร่วมกันระหว่าง สอศ. และ The Digital Skills Standard (ICDL)

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ