ผลการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12

ข่าวการเมือง Wednesday February 10, 2021 00:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือ ลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 และพิจารณามอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ผลการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2

ถ้อยแถลงร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 มีสาระสำคัญไม่แตกต่างจากร่างถ้อยแถลงฯ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 อย่างไรก็ตาม มีการเพิ่มประเด็น ได้แก่ 1) การแสดงความกังวลถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) รายละเอียดในสาขาการเกษตรและการพัฒนาชนบท 3) ความมั่นคงทางไซเบอร์ เทคโนโลยี 5G และ 4) การปรับถ้อยคำในส่วนของการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

สาระสำคัญของถ้อยแถลงของผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ สาธารณรัฐเกาหลี ยกระดับความร่วมมือไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันผ่านนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส (New Southern Policy Plus) ประเทศไทย (ไทย) สนับสนุนนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส พร้อมทั้งผลักดันความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูภายหลังโควิด-19 โดยเน้นย้ำใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) ความร่วมมือด้านสาธารณสุข และ 2) การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาคและโลก ภาพรวมร่วมกันรับมือโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ การต่อต้านภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ และยกระดับความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

2. ผลการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12

ถ้อยแถลงร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 มีสาระสำคัญ ไม่แตกต่างจากร่างถ้อยแถลงฯ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 อย่างไรก็ตาม มีการเพิ่มประเด็น ได้แก่ 1) การแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์พายุโซนร้อนหลิ่นฟา นังกา และไต้ฝุ่นโมลาเบ 2) การพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 3) การส่งเสริมการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานและความเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรม 4) การยินดี ต่อการประกาศหุ้นส่วนของการลงทุน และ 5) การสนับสนุนกัมพูชาในการจัดประชุมเอเชีย-ยุโรป

สาระสำคัญของถ้อยแถลงของผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ญี่ปุ่นพัฒนาและส่งเสริมสันติภาพใน อนุภูมิภาคและส่งเสริมความเชื่อมโยงของ อนุภูมิภาค ได้เสนอความร่วมมือ 5 ด้าน ได้แก่ 1) หุ้นส่วนการลงทุน 2) ข้อริเริ่ม ?คูซาโนเนะ? 3) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4) ความมั่นคงทางทะเล และ 5) การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน ไทย เน้น 3 ประเด็นที่มีความสำคัญเร่งด่วน ได้แก่ 1) ด้านสาธารณสุข 2) การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการจัดทำแผนแม่บทเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางกฎระเบียบและดิจิทัล และ 3) การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการพัฒนาระดับรากหญ้า ภาพรวม ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับผลกระทบจากโควิด-19 พัฒนาเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ รับมือกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเน้นความเชื่อมโยงระหว่างมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิกกับแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างของญี่ปุ่น และกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นและกรอบความร่วมมือยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง

ทั้งนี้ มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำผลประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 เช่น การเกษตรและการพัฒนาชนบท ความเชื่อมโยงทางกายภาพ กฎระเบียบ และอุตสาหกรรม การส่งเสริมการพัฒนาข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ