คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้
1. ให้ ศธ. ดำเนินโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระยะเวลา 10 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2573) และอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายของโครงการดังกล่าว จำนวน 9,619.88 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนที่มีความสนใจพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในทุกพื้นที่ นำไปสู่การสร้างและพัฒนาบุคคลให้เป็นกำลังสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันกับนานาประเทศในอนาคต ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
2. ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ศธ. ปรับแผนค่าใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของ สพฐ. สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการด้านบุคลากรและการพัฒนาโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นบุคลากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันกับนานาประเทศ ประกอบกับนักเรียนที่ต้องการทำงานเกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมมีน้อย* ดังนั้น ครูและบุคลากรทางการศึกษามีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ศึกษาและมีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพนักเรียนให้มีความรู้ ความสามารถ และเต็มศักยภาพ อย่างไรก็ตาม การศึกษาของไทยยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับกระบวนการสอนของครู เช่น ความเข้าใจในเนื้อหา อย่างลึกซึ้ง ทักษะกระบวนการจัดการเรียนรู้และวิธีการสอนที่เน้นเนื้อหาคำตอบมากกว่ากระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่คำตอบ เป็นต้น รวมถึงหลักสูตรที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ นักเรียน จึงไม่ได้รับการพัฒนาสมรรถนะเท่าที่ควร ส่งผลให้นักเรียนขาดทักษะการคิดขั้นสูง เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ และ ไม่สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ หลายโรงเรียนยังขาดความพร้อมทาง ด้านห้องเรียน วัสดุ อุปกรณ์ และครุภัณฑ์ ปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่จำเป็นต้องเร่งพัฒนาต่อคุณภาพการศึกษาของไทยให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างเร่งด่วน
- ข้อมูล ?วิทยาศาสตร์ของนักเรียนกับนักเรียนในภูมิภาคเอเชีย? เดือนตุลาคม 2560 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2. ศธ. โดยความร่วมมือระหว่าง สพฐ. สถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดทำโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ (โครงการฯ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมรรถนะนักเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี [ระดับประถมศึกษา (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6) และระดับมัธยมศึกษา (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6)] ผ่านกระบวนการของหลักสูตรและเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพ มหาวิทยาลัย โรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียน ระยะเวลาดำเนินงาน 10 ปี (ปีการศึกษา 2564 ? 2573) โดยมีเป้าหมาย แผนการดำเนินงาน และงบประมาณสรุปได้ ดังนี้
2.1 เป้าหมาย
(1) หลักสูตรวิทยาศาสตร์พลังสิบมีมาตรฐานและคุณภาพสามารถเป็นต้นแบบในการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยปรับรายวิชาเพิ่มเติมเน้นสมรรถนะผู้เรียนเป็นฐาน เพื่อเน้นบูรณาการความรู้ ลดความซ้ำซ้อนในการจัดรายวิชา เน้นทักษะกระบวนการแสวงหาความรู้และ สร้างกระบวนการคิดได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกิจกรรมส่งเสริมทักษะการคิดแก้ปัญหาและการคิดอย่างสร้างสรรค์
(2) พัฒนาโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้มีคุณภาพ และมีศักยภาพเป็นโรงเรียนศูนย์ฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี (โรงเรียนศูนย์ฝึกอบรมฯ) จำนวน 200 โรงเรียน (แบ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 100 โรงเรียน และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 100 โรงเรียน) เพื่อให้บริการทางวิชาการแก่โรงเรียนเครือข่าย อีกจำนวน 2,000 โรงเรียน (แบ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 1,000 โรงเรียน และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 1,000 โรงเรียน) (อัตราส่วนโรงเรียนศูนย์ฝึกอบรมฯ : โรงเรียนเครือข่าย คือ 1 : 10) รวมจำนวนโรงเรียนในโครงการทั้งสิ้น 2,200 โรงเรียน
(3) พัฒนาครูในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยการฝึกอบรมและพัฒนาตนเองทางความรู้ ทักษะ และประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง มากกว่า 10,000 คน/ปี รวมถึงพัฒนาศักยภาพบุคลากรโครงการฯ ด้วย
(4) พัฒนานักเรียนที่มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างเต็มศักยภาพ มากกว่า 100,000 คน/ปี/ระดับชั้น
(5) ให้นิสิต/นักศึกษา ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในโรงเรียนที่ร่วมโครงการฯ ให้มีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนรู้ตามแนวโครงการฯ
2.2 แผนการดำเนินงาน
1. การเตรียมความพร้อมของโครงการ (ปีการศึกษา 2563 - 2564)
ปีการศึกษา 2563 - 2564
การดำเนินการที่สำคัญ เช่น
- การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและหลักสูตร เช่น จัดทำมาตรฐานและหลักสูตร จัดทำเกณฑ์การคัดเลือกโรงเรียนศูนย์ฯ
2. การดำเนินการระยะที่ 1 (ปีการศึกษา 2564 - 2567)
ปีการศึกษา 2564
การดำเนินการที่สำคัญ เช่น
- รับสมัครและคัดเลือกโรงเรียนศูนย์ฯ ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ระดับชั้นละ 100 โรงเรียน
- รับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 ระดับชั้นละ 3,000 คน (เฉลี่ย 30 คน/ระดับชั้น/โรงเรียน)
- นำหลักสูตรไปปรับใช้/อบรมครูวิทยากรศูนย์ฯ/พัฒนาศักยภาพบุคลากรโครงการฯ*
- เตรียมเกณฑ์การคัดเลือกโรงเรียนเครือข่าย
ปีการศึกษา 2565
การดำเนินการที่สำคัญ เช่น
- รับสมัครและคัดเลือกโรงเรียนเครือข่าย ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ระดับชั้นละ 1,000 โรงเรียน
- รับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 ระดับชั้นละ 30,000 คน (เฉลี่ย 300 คน/ระดับชั้น/โรงเรียน)
- นำหลักสูตรไปปรับใช้/อบรมครูเครือข่ายฯ/พัฒนาศักยภาพบุคลากรโครงการฯ*
ปีการศึกษา 2566
การดำเนินการที่สำคัญ เช่น
- รับนักเรียน/นำหลักสูตรไปปรับใช้/อบรมครูวิทยากรโรงเรียนศูนย์ฯ และครูเครือข่าย/พัฒนาศักยภาพบุคลากรโครงการฯ*
ปีการศึกษา 2567
การดำเนินการที่สำคัญ เช่น
- ประเมินผลโครงการครั้งที่ 1 เพื่อคัดเลือกโรงเรียนศูนย์ฯ ที่ไม่ผ่านมาตรฐานออก และคัดเลือกโรงเรียนศูนย์ฯ ใหม่ให้ครบ 100 โรงเรียน
3. การดำเนินการระยะที่ 2 (ปีการศึกษา 2568 - 2573)
ปีการศึกษา 2568 - 2569
การดำเนินการที่สำคัญ เช่น
- รับนักเรียน/นำหลักสูตรไปปรับใช้/อบรมครูวิทยากรโรงเรียนศูนย์ฯ และครูเครือข่าย/พัฒนาศักยภาพบุคลากรโครงการฯ*
ปีการศึกษา 2570
การดำเนินการที่สำคัญ เช่น
- ประเมินผลโครงการครั้งที่ 2 เพื่อคัดเลือกโรงเรียนศูนย์ฯ ที่ไม่ผ่านมาตรฐานออก และคัดเลือกโรงเรียนศูนย์ฯ ใหม่ให้ครบ 100 โรงเรียน
ปีการศึกษา 2571 - 2573
การดำเนินการที่สำคัญ เช่น
- รับนักเรียน/นำหลักสูตรไปปรับใช้/อบรมครูวิทยากรโรงเรียนศูนย์ฯ และครูเครือข่าย/พัฒนาศักยภาพบุคลากรโครงการฯ*
- หมายเหตุ : การดำเนินการตาม (*) เป็นการดำเนินการทุกปี (ปีละ 1 ครั้ง)
2.3 งบประมาณโครงการฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ? 2573 (ระยะเวลา 10 ปี) รวมทั้งสิ้นจำนวน 9,619.88 ล้านบาท
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564