1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 พ.ศ. 2563 - 2565) [(ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ] เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องเร่งดำเนินการ ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 - 2573
2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตาม (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ
สาระสำคัญของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ
เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่สำคัญและต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในช่วง 3 ปีแรก (ปี พ.ศ. 2563 - 2565)
ก้าวสู่การจัดการพลาสติกที่ยั่งยืน ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Moving Towards Sustainable Plastic Management by Circular Economy)
1. หลักการจัดการพลาสติกตลอดวงจรชีวิต (Life Cycle) ตั้งแต่การจัดการพลาสติกในขั้นตอนการออกแบบและการผลิต โดยการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Design) การจัดการพลาสติกในขั้นตอนการบริโภค และการจัดการพลาสติกหลังการบริโภค
2. หลักการ 3R ประกอบด้วย การลดการใช้ (Reduce) ที่แหล่งกำเนิดในขั้นตอน การออกแบบ การผลิต และการบริโภค โดยการลดปริมาณการใช้ลงโดยใช้เท่าที่จำเป็น การใช้ซ้ำ (Reuse) โดยการนำของเสียบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้อีกโดยไม่แปรรูปหรือแปรสภาพ และการนำมาแปรรูปใช้ใหม่ (Recycle) เป็นการนำขยะรีไซเคิล ของเสีย บรรจุภัณฑ์ หรือวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต หรือเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
3. หลักการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน (Public Private Partnership) โดยทุกภาคส่วนต้องเข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมในการจัดการขยะพลาสติก
4. หลักการว่าด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การจัดการขยะพลาสติกให้เกิดความยั่งยืน มุ่งเน้นให้มีการสร้างของเสียที่ต่ำที่สุดหรือไม่มีเลย ด้วยการนำพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
5. หลักการผู้ผลิตมีส่วนร่วม (Responsible Consumption and Production) โดยผู้ผลิตมีส่วนร่วมในการจัดการขยะพลาสติก เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ใช้หลักการที่ถือว่าต้นทุนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากการผลิตเป็นต้นทุนของสินค้าด้วย ผู้ประกอบการจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการของเสียที่เกิดจากสินค้า
1. เป้าหมายที่ 1 : การลด เลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 100 ภายในปี พ.ศ. 2565 ได้แก่
(1) ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน
(2) กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่รวมถึงโฟมที่ใช้กันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม
(3) แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และ
(4) หลอดพลาสติก ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น (ในปีฐาน พ.ศ. 2562 รวมการใช้พลาสติก 3 ประเภทอยู่ที่ 384,024 ตัน ส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติกหูหิ้ว)
2. เป้าหมายที่ 2 : การนำพลาสติกเป้าหมายกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพลาสติกเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2565 ได้แก่
(1) ถุงพลาสติกหูหิ้ว (HDPE LLDPE LDPE และ PP)
(2) บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว (HDPE และ LL/LDPE)
(3) ขวดพลาสติก (ทุกชนิด)
(4) ฝาขวด
(5) แก้วพลาสติก
(6) ถาด/กล่องอาหาร และ
(7) ช้อน/ส้อม/มีด (ในปีฐาน พ.ศ. 2562 รวมการใช้พลาสติก 7 ประเภทอยู่ที่ 1,341,668 ตัน เป้าหมายนำกลับไปใช้ประโยชน์ร้อยละ 50 หรืออยู่ที่ 670,834 ตัน)
1. มาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการป้องกันและควบคุมการเกิดของเสียตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต โดยการออกแบบ/ผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-design) ลดปริมาณสารพิษในผลิตภัณฑ์ เลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ รับผิดชอบของเสียที่เกิดจากสินค้าของตนเอง ผลักดันให้มีการปรับปรุงพัฒนามาตรฐานการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบฉลากสิ่งแวดล้อม การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพลาสติก และมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลพลาสติกให้เป็นมาตรฐานเดียวกันที่สามารถเชื่อมโยงทั้งประเทศ
2. มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนในการบริโภคที่เหมาะสม โดยเฉพาะการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (SUP) ที่มีผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
3. มาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ส่งเสริมให้ประชาชนลด และคัดแยกขยะ ส่งเสริมให้มีการนำขยะพลาสติกมาผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมบางประเภทต้องใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลพลาสติก และจัดหาเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ
1. สร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) หรือการประชาสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ข้อมูลข่าวสารขององค์กรทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
2. การสร้างความเป็นหุ้นส่วนในการดำเนินงานในทุกระดับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้แก่ หน่วยงานราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค
3. การใช้เครื่องมือและกลไกต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรมและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ได้แก่ (1) มาตรการทางการเงินการคลัง โดยอาจเป็นเงินงบประมาณจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ เงินลงทุนจากภาคเอกชน เงินกองทุนสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ และงบประมาณแผ่นดิน (2) การสร้างแรงจูงใจ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ และการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์รวมทั้งเครื่องมือทางสังคมเพื่อสนับสนุนการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (3) การสนับสนุนการวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบการจัดการ ระบบฐานข้อมูล นวัตกรรมในการจัดการขยะพลาสติกทั้งบนบกและทะเล (4) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาระบบการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลต่อการป้องกันขยะบกลงสู่ทะเล และ (5) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือเร่งออกกฎระเบียบข้อบังคับ
1. หน่วยงานกลาง ประกอบด้วย ทส. กค. พณ. กระทรวงอุตสาหกรรม มท. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และสำนักนายกรัฐมนตรี (กรมประชาสัมพันธ์) เป็นหน่วยงานหลัก
2. หน่วยงานระดับพื้นที่ ประกอบด้วย จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการดำเนินงานขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานในการจัดการขยะพลาสติกในระดับจังหวัด และรวบรวมข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานของจังหวัดมายังหน่วยงานกลาง
3. ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ประกอบการธุรกิจ
4. องค์กรพัฒนาเอกชน (Non-Governmental Organizations: NGOs) ได้แก่ สมาคมสร้างสรรค์ไทย (ตาวิเศษ)
5. ผู้บริโภค
ลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี และประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่รองรับพื้นที่ฝังกลบและกำจัดขยะมูลฝอยพลาสติก ได้ประมาณ 2,500 ไร่ โดยการคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 1.2 ล้านตัน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564