คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2563 และรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2563 (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 24 และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 มาตรา 25 ที่บัญญัติให้ สศช. จัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศเสนอ ครม. เพื่อทราบ) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2563
1.1 ผลการประเมินผลความก้าวหน้าตามเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ 23 ประเด็น 37 เป้าหมาย และเป้าหมายระดับแผนแม่บทย่อย 140 เป้าหมาย พบว่า สถานการณ์ในการบรรลุเป้าหมายมีการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562
1.1.1 เป้าหมายระดับประเด็นที่บรรลุตามค่าเป้าหมายที่กำหนดในปี 2565 แล้ว 7 เป้าหมาย (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 4 เป้าหมาย) ประกอบด้วย
(1) ประเด็นโครงสร้างพื้นฐานระบบ โลจิสติกส์และดิจิทัล (เป้าหมาย : ความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศดีขึ้น)
(2) เขตเศรษฐกิจพิเศษ (เป้าหมาย : การลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมดได้รับการยกระดับ)
(3) การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี (เป้าหมาย : คนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้นและมีความอยู่ดีเพิ่มขึ้น)
(4) ศักยภาพการกีฬา) (เป้าหมาย : คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น มีน้ำใจนักกีฬา และมีวินัยเคารพกฎกติกามากขึ้น ด้วยกีฬา)
(5) พลังทางสังคม (เป้าหมาย : ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมเพิ่มขึ้น)
(6) การเติบโตอย่างยั่งยืน (เป้าหมาย : สภาพแวดล้อมของประเทศไทย มีคุณภาพดีขึ้นอย่างยั่งยืน) และ
(7) การบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ (เป้าหมาย : ภาครัฐการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพด้วยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้)
1.1.2 ประเด็นที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย 15 ประเด็น (เท่ากับปี 2562) และประเด็นที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับเสี่ยง 9 ประเด็น (ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 12 ประเด็น) โดยมีประเด็นที่มีสถานการณ์ดำเนินการในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น ประเด็นการท่องเที่ยว (เป้าหมาย : เมืองและชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น) การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี (เป้าหมาย : ประชาชนมีความรอบรู้สุขภาพ เรื่อง โรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากขึ้น)และการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ (เป้าหมาย : ระดับการรับมือกับภัยพิบัติด้านน้ำเพิ่มขึ้น)
1.1.3 ประเด็นที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับวิกฤต 6 ประเด็น (เท่ากับปี 2562) เช่น การเกษตร (เป้าหมาย : สินค้าที่ได้จากเทคโนโลยีสมัยใหม่/อัจฉริยะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น) ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ (เป้าหมาย : การขยายตัวของวิสาหกิจเริ่มต้น และเศรษฐกิจฐานราก (เป้าหมาย : ศักยภาพและขีดความสามารถของเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขึ้น)
1.2 ประเด็นท้าทายและการดำเนินการในระยะต่อไป เช่น
1. ความอยู่ดีมีสุขของคนไทยและสังคมไทย- การเพิ่มศักยภาพในการควบคุมการทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานราชการและพัฒนาสร้างความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน
- การส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ ได้รับสวัสดิการและการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะบริการ ด้านสาธารณสุข
2. ขีดความสามารถในการแข่งขันการพัฒนาเศรษฐกิจและการกระจายรายได้- โรคอุบัติใหม่และภัยพิบัติทางธรรมชาติ
- การส่งเสริมการตลาดเชิงรุก เพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่ายและต่อยอดสินค้าและบริการให้รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
3. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์- การสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว และปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม และจริยธรรมที่ดี
- การยกระดับสถาบันการศึกษาทุกระดับ
- ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้ที่เหมาะสม
4. ความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางสังคม- การพัฒนาศักยภาพของทุกภาคส่วนให้มีทักษะในการใช้ข้อมูลความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล
- การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของเศรษฐกิจฐานราก
- การสร้างหลักประกันทางสังคมเพื่อความมั่นคงในการดำรงชีวิต
- การพัฒนารูปแบบความคุ้มครองและสิทธิปรโยชน์ภายใต้ระบบประกันสังคมที่เหมาะสม
- การขยายความเชื่อมโยงของฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนเพื่อเพิ่มความครอบคลุมของประชากร กลุ่มเป้าหมายและแก้ปัญหาภาวะตกหล่น
5. ความหลากหลายทางชีวภาพคุณภาพสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ - ความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ
- การควบคุมมลพิษที่เกิดจากการผลิตและบริโภค
- ความสามารถของภาครัฐในการบริหารสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ
- การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้เป็นเอกภาพ
- การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำเสีย ขยะมูลฝอย และฝุ่นควัน
- การเสริมสร้างความตระหนักรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของคนไทยต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6. ประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการเข้าถึงการให้บริการภาครัฐ- การบริการของภาครัฐประสิทธิภาพและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ
- การพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
- การส่งเสริมค่านิยมให้สามารถแยกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม ซื่อสัตย์และสุจริต
- การพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านกฎหมายให้มีความเชื่อมโยงและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
1.3 ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในระยะต่อไป
1.3.1 บุคลากรของหน่วยงานของรัฐจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการของแผน 3 ระดับ และถ่ายทอดไปสู่การปฏิบัติตามหลักการความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (XYZ) และ การบูรณาการกับกระบวนการงบประมาณอย่างเป็นระบบ
1.3.2 ควรใช้ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) เป็นระบบ ในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการในทุกระดับอย่างแท้จริง 2. รายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2563
2.1 ผลสัมฤทธิ์การบรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศ ซึ่งประกอบด้วย แผนการปฏิรูปประเทศ 12 ด้าน เรื่องและประเด็นปฏิรูป 173 เรื่อง
2.1.1 บรรลุเป้าหมาย จำนวน 16 เรื่องและประเด็นการปฏิรูป (เพิ่มขึ้นจาก ปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 10 เรื่องและประเด็นปฏิรูป) ประกอบด้วย
กฎหมาย
(1) มีกลไกการออกกฎหมายที่ดีและเท่าที่จำเป็น รวมทั้งมีกลไกในการทบทวนกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ
(2) พัฒนากระบวนการจัดทำและตรวจพิจารณาร่างกฎหมายให้รวดเร็ว รอบคอบ และสอดคล้องกับเงื่อนเวลาในการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เศรษฐกิจ
(1) หน่วยงานดูแลควบคุมด้านกฎหมาย ด้านการแข่งขันทางการค้าและตลาดเสรี
(2) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
(3) ความยากง่ายในการทำธุรกิจ
(4) การจัดตั้งศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา
(5) การตั้งศูนย์กลางเพื่อส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพและสเกลอัพ
(6) การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศสำหรับภาคเกษตร
(7) การสร้างความมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนในการลดความเหลื่อมล้ำ และ
(8) การปฏิรูปหน่วยงานขับเคลื่อน ติดตามและประเมินผล
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การปรับสมดุลโครงสร้างองค์กรในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
พลังงาน
(1) การพัฒนาอุตสาหกรรมก๊าชธรรมชาติ
(2) การปฏิรูประบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลไม้โตเร็วสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล
(3) การปฏิรูปโครงสร้างการใช้พลังงานภาคขนส่ง ระยะ 20 ปี
(4) การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าในกลุ่มอุตสาหกรม และ
(5) การใช้ข้อบัญญัติเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน
2.1.2 อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยใกล้เคียงการบรรลุเป้าหมาย 78 เรื่องและประเด็นปฏิรูป (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 60 เรื่องและประเด็นปฏิรูป) และยังคงมีความเสี่ยงในการบรรลุเป้าหมาย 65 เรื่องและประเด็นปฏิรูป (ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 77 เรื่องและประเด็นปฏิรูป) โดยมีเรื่องและประเด็นปฏิรูปที่ดำเนินการในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ระบบเส้นทางน้ำ) ด้านสาธารณสุข (ระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศสุขภาพ และการเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันโรค) และ ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ (แนวทางการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ)
2.1.3 อยู่ในขั้นวิกฤตในการบรรลุเป้าหมาย จำนวน 14 เรื่องและประเด็น การปฏิรูป (ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 26 เรื่องและประเด็นปฏิรูป) เช่น ด้านการเมือง (กลไกการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีและการรู้รักสามัคคีของสังคมไทย) ด้านเศรษฐกิจ (พัฒนาเมืองหลัก/เมืองศูนย์กลางของภูมิภาค) และด้านพลังงาน (การส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี)
2.2 ประเด็นท้าทายที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) การสร้างความรับรู้และความเข้าใจของหน่วยงานผู้รับผิดชอบถึงเจตนารมณ์ในขั้นตอนและวิธีการของกิจกรรมปฏิรูป (2) ความชัดเจนของเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนการปฏิรูปประทศ (3) ความซ้ำซ้อนของแผนการปฏิรูปประเทศและภารกิจปกติของหน่วยงาน และ (4) ประเด็นการบูรณาการการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.3 การดำเนินการในระยะต่อไป เพื่อให้การปฏิรูปประเทศบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้ตามเป้าประสงค์ภายในกรอบระยะเวลาของกฎหมายที่กำหนดไว้ในปี 2565 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ที่กำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง)
9. เรื่อง การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2562/2563
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2562/2563 เป็นรายงานเขต 9 เขต โดยมีอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ดังนี้
1. ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.* อัตราตันอ้อยละ 833.22 บาท
2. กำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อย ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. เท่ากับ 49.99 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.
3. ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย 357.09 บาทต่อตันอ้อย
- ซี.ซี.เอส. (Commercial Cane Sugar : CCS) เป็นระบบการคิดคุณภาพของอ้อย ซึ่งได้นำแบบอย่างมาจากระบบการซื้อขายอ้อยของประเทศออสเตรเลีย และได้เริ่มใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ฤดูการผลิต ปี 2536/2537 เป็นต้นมา โดยคำว่า ซี.ซี.เอส. หมายถึง ปริมาณของน้ำตาลที่มีอยู่ในอ้อยซึ่งสามารถหีบสกัดออกมาได้เป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ส่วนอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หมายถึง เมื่อน้ำอ้อยมาผ่านกระบวนการผลิต จะได้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ร้อยละ 10 ดังนั้น อ้อย 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม จะได้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 100 กิโลกรัม
อก. รายงานว่า
1. เรื่องที่เสนอมานี้เป็นการดำเนินการตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่บัญญัติให้ภายในเดือนตุลาคมของทุกปี ให้คณะกรรมการบริหารกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย และเมื่อราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแล้ว ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2. คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในคราวประชุมครั้งที่ 15/2563 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ได้พิจารณาการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิต และจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ตามที่คณะกรรมการบริหารเสนอ แล้วมีมติ ดังนี้
2.1 เห็นชอบข้อมูลองค์ประกอบและหลักเกณฑ์การคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2562/2563
2.2 เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2562/2563 เป็นรายเขต 9 เขต ดังนี้
ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย
ที่ 10 ซี.ซี.เอส. (บาทต่อตันอ้อย)
เขต 1 / 871.13
เขต 2 / 825.08
เขต 3 / 823.73
เขต 4 / 826.42
เขต 5 / 799.69
เขต 6 / 861.57
เขต 7 / 819.46
เขต 9 / 839.69
เฉลี่ยทั่วประเทศ / 833.22
อัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อย (บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.)
เขต 1 / 52.27
เขต 2 / 49.5
เขต 3 / 49.42
เขต 4 / 49.59
เขต 5 / 47.98
เขต 6 / 51.69
เขต 7 / 49.17
เขต 9 / 50.38
เฉลี่ยทั่วประเทศ / 49.99
ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ที่ 10 ซี.ซี.เอส.(บาทต่อตันอ้อย)
เขต 1 / 373.34
เขต 2 / 353.6
เขต 3 / 353.03
เขต 4 / 354.18
เขต 5 / 342.73
เขต 6 / 369.24
เขต 7 / 351.2
เขต 9 / 359.87
เฉลี่ยทั่วประเทศ / 357.09
หมายเหตุ : เขต 8 จำนวน 1 โรงงาน ประกอบด้วย โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลชลบุรี ไม่เปิดหีบอ้อย
3. นอกจากการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2562/2563 แล้ว คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายยังได้มีมติเห็นชอบให้โรงงานน้ำตาลทรายนำส่งเงินส่วนต่างระหว่างรายได้สุทธิจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายและราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทน การผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ในอัตราตันอ้อยละ 7 บาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระทางการเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (การดำเนินการดังกล่าวไม่ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี)
4. ประเด็นข้อพิพาท เรื่อง น้ำตาลภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ระหว่างประเทศไทยกับบราซิลมิได้มีประเด็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการคำนวณราคาอ้อยทั้งขั้นต้นและขั้นสุดท้าย ดังนั้น การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2562/2563 จึงไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด แต่เป็นการรักษาประโยชน์ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย รวมทั้งเป็น การสร้างหลักประกันอย่างพอเพียงและเหมาะสมให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564