มาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติม

ข่าวการเมือง Monday February 15, 2021 18:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และเห็นชอบโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กิจการ และเพื่อไถ่ถอนจากการขายฝากเอกชนที่ทำสัญญาขายฝาก โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท และรัฐบาลชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารออมสิน ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 600 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น และเป็นภาระต่องบประมาณนั้น ให้ธนาคารออมสินจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญ
กระทรวงการคลังเสนอมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. การปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19)

1.1 มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

1) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ภายใต้มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) ให้แก่ประชาชนที่มีอาชีพอิสระไม่มีรายได้ประจำหรือเกษตรกรรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน (ระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน) และอนุมัติงบประมาณชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non - Performing Loans : NPLs) ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ที่ไม่เกินร้อยละ 50 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 ล้านบาท (ร้อยละ 100 * ร้อยละ 50 * วงเงิน 40,000 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นของธนาคารออมสินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท

2) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 อนุมัติงบประมาณเพื่อชดเชยต้นทุนการดำเนินงานในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินสินเชื่ออนุมัติเป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,600 ล้านบาท (วงเงิน 40,000 ล้านบาท * ร้อยละ 2 * ระยะเวลา 2 ปี) โดยแบ่งเป็นของธนาคารออมสินไม่เกิน 800 ล้านบาท และธ.ก.ส. ไม่เกิน 800 ล้านบาท

3) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) จากเดิมสิ้นสุดรับขอสินเชื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นสิ้นสุดรับขอสินเชื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564

1.2 การปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ณ วันที่ 18 มกราคม 2564 ธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 1,732,846 ราย จำนวนเงิน 17,328.46 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 883,067 ราย จำนวนเงิน 8,797 ล้านบาท อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ทำให้มีผู้ได้รับสินเชื่อตามโครงการแจ้งความประสงค์ขอผ่อนปรนเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้หรือขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดสถานประกอบการ ถูกเลิกจ้าง และตกงาน ทำให้ขาดสภาพคล่องและไม่มีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ ซึ่งหากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด อาจส่งผลต่อประวัติการชำระสินเชื่อในระบบเครดิตบูโร ทำให้ขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน และอาจก่อให้เกิดปัญหาการพึ่งพาหนี้นอกระบบในอนาคต ดังนั้น เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินให้กับประชาชน จึงเห็นควรทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จำยสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ดังนี้

1) ขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มเติม จากเดิม 6 เดือน เป็นไม่เกิน 12 เดือน โดยให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. สามารถกำหนดระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามความเหมาะสมเป็นรายกรณีสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้เป็นไปตามที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. กำหนด

2) ขยายระยะเวลากู้ จากเดิมไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน เป็นไม่เกิน 3 ปี

ทั้งนี้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณชดเชยเดิมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 และวันที่ 31 มีนาคม 2563 รวมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ๆ ยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์โครงการเดิมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 และวันที่ 12มกราคม 2564 2. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว

2.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กิจการ และเพื่อไถ่ถอนจากการขายฝากเอกชนที่ทำสัญญาขายฝาก

2.2 กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) ที่มีที่ดินว่างเปล่า และ/หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน

2.3 วิธีดำเนินงาน : ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและ Supply Chain โดยใช้ที่ดินว่างเปล่า และ/หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินเป็นหลักประกัน และไม่ต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกินร้อยละ 70 ของราคาประเมินที่ดินของทางราชการ สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทกรณีผู้กู้เป็นบุคคลธรรมดา และสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาทกรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล ระยะเวลากู้ 3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.10 ต่อปีในปีแรก ร้อยละ 0.99 ต่อปีในปีที่ 2 และร้อยละ 5.99 ต่อปีในปีที่ 3

2.4 ระยะเวลาดำเนินงาน : ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารออมสินได้ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 หรือจนกว่าวงเงินโครงการจะหมด แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน และให้ธนาคารออมสินเบิกจ่ายสินเชื่อให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นสุดรับคำขอกู้

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ