ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น

ข่าวการเมือง Monday February 15, 2021 18:53 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ด้านแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism : MLIT) ด้านแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร (ร่างบันทึกความร่วมมือฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความร่วมมือฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญก่อนการลงนาม และเป็นประโยชน์ ต่อประเทศไทย ให้อยู่ในดุลยพินิจของกระทรวงคมนาคม โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยสำหรับการลงนามดังกล่าว ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง
1. กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการความร่วมมือกับ MLIT ภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน (Memorandum of Cooperation on Road Safety) ระหว่างปี พ.ศ. 2560 ? 2562 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (นายชิโร ซะโดมิชะ) ในขณะนั้น (เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562) เห็นพ้องให้ต่ออายุบันทึกความร่วมมือดังกล่าว MLIT จึงได้นำส่งร่างบันทึกความร่วมมือฯ ฉบับใหม่ (Memorandum of Cooperation on Policy Planning and Technologies of Road Traffic) แทนการต่ออายุความร่วมมือฯ ฉบับเดิม โดยมีการปรับเนื้อหาการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนให้ครอบคลุมการพัฒนาแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร เพื่อไม่ให้ทับซ้อนโครงการ ?Capacity Improvement for Road Traffic Safety Institutions and Implementation in Thailand? ระหว่างกระทรวงคมนาคมและองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ที่ดำเนินการต่อจากบันทึกความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนนฉบับเดิม ซึ่งจะดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2563 - 2564
2. ร่างบันทึกความร่วมมือฯ ฉบับใหม่ จะขยายขอบเขตการดำเนินการระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่น ได้แก่ การพัฒนาแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร แนวทางการส่งเสริมโครงการในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการก่อสร้างอุโมงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรของประเทศไทยและครอบคลุมถึงโครงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด (นราธิวาส ? สำโรง) ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ MLIT ได้ดำเนินการร่วมกัน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ด้วย โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

วัตถุประสงค์ : พัฒนาขีดความสามารถด้านการวางแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจรประเทศไทย โดยการแลกเปลี่ยนนโยบาย เทคโนโลยี และประสบการณ์ด้านการจราจร

กำหนดความร่วมมือ : จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อพิจารณาและกำกับดูแล (ผู้บริหารระดับอธิบดีของกระทรวงคมนาคม เป็นประธานโดยมีผู้แทนของ MLIT เข้าร่วมและให้คำแนะนำ) และให้มีผู้เชี่ยวชาญจากส่วนต่าง ๆ ที่มีความรู้/ประสบการณ์หรือเทคโนโลยี/ผลิตภัณฑ์ในด้านการจราจรเข้ามามีส่วนร่วม

กรอบความร่วมมือ : การแลกเปลี่ยนนโยบาย เทคโนโลยี และประสบการณ์ด้านการจราจร ศึกษาอุโมงค์ทางลอดถนน เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของญี่ปุ่นในด้านการดำเนินการและเทคโนโลยีการบำรุงรักษา ถนนลอดอุโมงค์ ทางหลวงพิเศษ และทางพิเศษ และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ PPP

ระยะเวลา : มีผลนับจากวันที่ลงนามและจะดำเนินต่อไป 5 ปี หลังจากนั้นให้ขึ้นอยู่กับการหารือของคู่ภาคี

อื่น ๆ : การดำเนินการ เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทั้งสองประเทศ และขึ้นอยู่กับงบประมาณปกติที่มีอยู่ของทั้งสองประเทศ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ