หลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ….

ข่าวการเมือง Tuesday February 23, 2021 18:09 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง หลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ?. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้

1. เห็นชอบหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ โดยให้เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รักษาการตามร่างกฎหมายนี้ และให้ สคก. รับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ?. ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมทั้งความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปประกอบการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

2. มอบหมายให้ พม. และกระทรวงมหาดไทยร่วมกันเป็นหน่วยงานเจ้าของเรื่องในการนำหลักการของร่างกฎหมายตามข้อ 1. ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และให้ส่งผลการดำเนินการดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการยกร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ สคก. เสนอว่า

1) โดยที่ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันขึ้นในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ และบางส่วนดำเนินการในรูปคณะบุคคลที่มิได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ทำให้การกำกับดูแลของรัฐไม่สามารถทำได้โดยทั่วถึง และมีองค์กรจำนวนมากที่อ้างว่าเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน แต่กลับดำเนินการในลักษณะที่เป็นการหารายได้มาแบ่งปันกันในระหว่างผู้ร่วมดำเนินการโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีซึ่งเป็นการหลอกลวงประชาชน รวมทั้งมีองค์กรจำนวนมากที่รับเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยหรือมิได้จดทะเบียนจัดตั้งในราชอาณาจักรไทยมาใช้ในการดำเนินกิจกรรม ที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยในราชอาณาจักรเอง

2) นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ สคก. ศึกษากฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันของต่างประเทศ เพื่อหาหลักการที่เหมาะสมมาใช้ในการยกร่างกฎหมายในทำนองเดียวกันของประเทศไทย แล้วนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ซึ่งต่อมารองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้จัดประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการยกร่างกฎหมายดังกล่าว และได้มอบให้ สคก. จัดทำและเสนอหลักการของร่างกฎหมายดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

สคก. จึงได้เสนอหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน มาเพื่อดำเนินการ

พม. เสนอว่า

1) โดยที่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสาธารณสุข ความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาในด้านอื่น ๆ มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก ทำให้หน่วยงานของรัฐไม่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยในประเทศที่พัฒนาแล้วภาครัฐจะให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ

2) โดยที่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมในภาพรวมเป็นการเฉพาะ ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 43 บัญญัติให้บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี อันดีงาม ทั้งของท้องถิ่นและของชาติ จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน เข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการอันใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว และจัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน และมาตรา 78 บัญญัติให้รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ การจัดทำบริการสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นใดบรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน ดังนั้น เพื่อให้องค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนร่วมกับภาครัฐและภาคส่วนอื่น โดยการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมเป็นการเฉพาะ

พม. จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ?. มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญ
1. สาระสำคัญของหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน มีดังนี้

1.1 ให้มีกฎหมายกลางในระดับพระราชบัญญัติขึ้นเพื่อกำกับการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันในประเทศไทยให้เป็นไปอย่างถูกต้องทำนองคลองธรรม เปิดเผย โปร่งใส เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ปราศจากไถยจิตแอบแฝงอันเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

1.2 กำหนดให้อธิบดีกรมการปกครองเป็นผู้รับจดแจ้งองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน

1.3 กำหนดให้องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันจะดำเนินกิจกรรมในประเทศไทยได้ต่อเมื่อได้จดแจ้งต่อผู้รับจดแจ้ง และเมื่อได้รับจดแจ้งแล้วให้องค์กรดังกล่าวมีสิทธิได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

1.4 กำหนดให้องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันที่จดแจ้งต้องดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งและการดำเนินกิจการขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ หรือกำไรมาแบ่งปันกันแต่ละแห่ง และที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นการเฉพาะแล้ว ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

1.5 ให้เป็นหน้าที่ขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ที่ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาและจำนวนของเงินหรือทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละปี และต้องยื่นแบบรายการภาษีเงินได้ทุกปีด้วย

1.6 กำหนดให้องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน จะรับเงินหรือทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยหรือมิได้จดทะเบียนจัดตั้งในราชอาณาจักรไทย มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมในประเทศไทยได้เฉพาะกิจกรรมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด และต้องรายงานผลการรับและใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว รวมทั้งกิจกรรมที่ดำเนินการในแต่ละปีด้วย

1.7 กำหนดให้องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ต้องเสนอรายงานการสอบบัญชีโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต่อผู้รับจดแจ้งภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี และให้ผู้รับจดแจ้งเผยแพร่รายงานการสอบบัญชีดังกล่าวในระบบสารสนเทศของกรมการปกครอง

1.8 กำหนดบทลงโทษอาญาแก่ผู้ดำเนินการองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันในประเทศไทยโดยมิได้จดแจ้งต่อผู้รับจดแจ้ง

1.9 สมควรกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

1.10 สมควรมีกฎหมายส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันที่ได้จดแจ้งตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรที่ดำเนินการอันเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวม 2. สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ?. สรุปได้ดังนี้

2.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนหกคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กรรมการผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม จำนวนเจ็ดคน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนสี่คน และมีผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ

2.2 กำหนดให้คณะกรรมการตามข้อ 2.1 มีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ เช่น กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม เสนอความเห็นและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมต่อรัฐมนตรี ส่วนราชการ หน่วยงาน และองค์กรภาคประชาสังคม จัดทำข้อเสนอแนะในการพัฒนาหรือปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมต่อรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

2.3 กำหนดให้มีสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ในกำกับของ พม. รวมทั้งกำหนดให้มีผู้อำนวยการคนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานฯ โดยสำนักงานฯ มีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการตามข้อ 2.1

2.4 กำหนดให้องค์กรภาคประชาสังคมที่จะได้รับการสนับสนุนตามร่างพระราชบัญญัตินี้จะต้องจดแจ้งต่อสำนักงานฯ ก่อน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ