(ร่าง) นโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2563 - 2565

ข่าวการเมือง Tuesday February 23, 2021 18:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2563 - 2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ สธ. รับความเห็นของกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) สำนักงบประมาณ (สงป.) และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป รวมทั้งให้ สธ. ดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้

1. เร่งประสาน อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการกรอบแนวทางการดำเนินงานและการจัดลำดับความสำคัญของแผนงานและโครงการต่าง ๆ ภายใต้ (ร่าง) นโยบายแห่งชาติด้านยาฯ พ.ศ. 2563 - 2565 กับ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 - 2569 ให้มีความสอดคล้อง เชื่อมโยง ไม่ซ้ำซ้อน ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดตัวชี้วัดที่มีเป้าหมายร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรมได้โดยเร็ว

2. ให้ อย. ให้ความสำคัญกับการศึกษาพฤติกรรมการจ่ายยาของสถานพยาบาลและการใช้ยาของประชาชนแต่ละกลุ่มในระบบบริการปฐมภูมิ เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการกำหนดแนวนโยบายการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อให้เกิดการให้ยาอย่างสมเหตุผล การเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน และระบบการควบคุมการกระจายยาภายใต้ (ร่าง) นโยบายแห่งชาติด้านยาฯ พ.ศ. 2563 - 2565 ที่ชัดเจนและสอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงการพัฒนาทัศนคติและค่านิยมด้านสุขภาพและการส่งเสริมการใช้บริการสุขภาพอย่างชาญฉลาดด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

สธ. รายงานว่า

1. ผลการดำเนินการของนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ. 2554 และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2555 - 2559 ส่วนใหญ่สามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายตัวชี้วัด อาทิ จำนวนรายการยาจำเป็นที่มีปัญหาการเข้าถึงได้รับการแก้ไขอย่างน้อย 20 รายการ จำนวนรายการยาสามัญรายการใหม่ที่ผลิตในประเทศอย่างน้อย 30 รายการ ร้อยละของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลในโรคเป้าหมายลดลง อย่างน้อยร้อยละ 50 สัดส่วนมูลค่าการบริโภคยาสามัญที่ผลิตในประเทศเมื่อเทียบกับมูลค่ายานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานบางส่วนยังไม่บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายตัวชี้วัด ทั้งนี้ เนื่องมาจากปัจจัยหลายด้าน ได้แก่ จำนวนแผนงานโครงการที่มีจำนวนมาก ข้อจำกัดด้านทรัพยากรทั้งบุคลากร งบประมาณ และยังขาดวิธีการติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไม่สามารถทราบความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน รวมทั้งไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขอย่างเหมาะสมได้

2. นโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ. 2554 และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2555 - 2559 สิ้นสุดในปี 2559 จึงจำเป็นต้องเสนอ (ร่าง) นโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อให้การพัฒนาระบบยามีความต่อเนื่อง สอดคล้องกับบริบทของประเทศและสถานการณ์ของระบบยาในปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถรับไปจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนงบประมาณรองรับนโยบายดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

3. คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายแห่งชาติด้านยาฯ พ.ศ. 2563 - 25651และให้ สธ. เสนอ (ร่าง) นโยบายแห่งชาติด้านยาฯ พ.ศ. 2563 - 2565 ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนแนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560) ต่อไป

4. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในคราวประชุม ครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) นโยบายแห่งชาติด้านยาฯ พ.ศ. 2563 - 2565 โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

(1) การกำหนดวิสัยทัศน์ ควรพิจารณากำหนดวิสัยทัศน์ให้ครอบคลุมถึงประเด็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านยา

(2) ประเด็นที่ควรพิจารณาให้ความสำคัญเพิ่มเติม เช่น การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยาเพื่อให้มีการพึ่งพาตนเอง การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล การสนับสนุนการวิจัยพัฒนายาสมุนไพร เป็นต้น และ

(3) การกำหนดกลไกขับเคลื่อน ควรให้ความสำคัญกับการบูรณาการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง สธ. ได้ดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดดังกล่าวแล้ว

5. (ร่าง) นโยบายแห่งชาติด้านยาฯ พ.ศ. 2563 - 2565 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งถ่ายทอดเป็นแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นที่ 4 อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ประเด็นที่ 13 การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี ประเด็นที่ 20 การบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ และประเด็นที่ 23 การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

วิสัยทัศน์ (ภายใน 20 ปี)

?ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ใช้ยาสมเหตุผล ประเทศมีความมั่นคงด้านยาอย่างยั่งยืน?

พันธกิจ อาทิ

ส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศเพื่อความมั่นคงทางยาสร้างระบบและกลไกดูแลราคายาให้เป็นธรรม

  • สร้างมาตรการส่งเสริมสมดุลระหว่างการเข้าถึงยากับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญหา
  • สร้างกลไกให้เกิดการนำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ

เป้าประสงค์

  • ระบบควบคุมยามีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล เพื่อประกันคุณภาพมาตรฐานผ่านผู้ผลิตและองค์กรควบคุมยาที่มีประสิทธิภาพ
  • ประเทศมีความมั่นคงด้านยา สามารถผลิตและจัดหายาจำเป็นไว้ใช้ได้อย่างต่อเนื่องและทันท่วงทีทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน
  • ราคายาในประเทศมีความสอดคล้องกับค่าครองชีพและความสามารถในการจ่ายของประชาชนและภาครัฐ

เป้าหมายตัวชี้วัดโดยสังเขป (จากทั้งหมด 12 เป้าหมายตัวชี้วัด)

  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านการประเมินศักยภาพจากองค์กรระดับสากลอย่างต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2565
  • มูลค่าการผลิตยาชีววัตถุกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10
  • จำนวนผลิตภัณฑ์ยานวัตกรรมหรือส่งออกได้รับการอนุญาต อย่างน้อย 30 รายการ/ปี

ยุทธศาสตร์

(1) พัฒนาระบบควบคุมยาให้มีประสิทธิภาพระดับสากล

  • ปฏิรูประบบงานโครงสร้างและการบริหารจัดการในการขึ้นทะเบียนตำรับยาให้มีประสิทธิภาพ
  • ประกันคุณภาพยาในการจัดซื้อ จัดหา และขนส่งยาตลอดห่วงโซ่อุปทาน
  • พัฒนาระบบการควบคุมการกระจายยา

(2) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการผลิตยาสมุนไพร และชีววัตถุเพื่อความมั่นคงทางยา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

  • กำหนดให้ทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันต้องผลิตตามมาตรฐาน PIC/S GMP
  • สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของการวิจัยและพัฒนายาและสร้างเสริมศักยภาพของบุคลากรให้พร้อมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยา
  • สร้างระบบและกลไกในการนำผลงานวิจัยมาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์

(3) พัฒนาระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน

  • สร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนเพื่อการเข้าถึงยา
  • ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกฎหมายเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยา อาทิ กฎหมายแข่งขันทางการค้า ข้อตกลงระหว่างประเทศ
  • พัฒนากลไกให้มียาจำเป็น และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนยา

(4) พัฒนาระบบและกลไกเพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล

  • พัฒนาระบบคุณภาพเพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของสถานพยาบาลชุมชน และภาคเกษตรกรรม
  • พัฒนาการศึกษาและการให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาและประชาชน
  • ส่งเสริมการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา และการติดตามประเมินผล

(5) สร้างเสริมกลไกการประสานเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ

  • พัฒนาหน่วยงานที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนนโยบายฯ

กลไกการติดตามและประเมินผล

  • กำหนดให้มีการรายงานผลการดำเนินงานในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ 3 - 4 ครั้ง/ปี

[1]ในการประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้ปรับระยะเวลาของ (ร่าง) นโยบายแห่งชาติด้านยาฯ ฉบับที่เสนอในครั้งนี้ จาก พ.ศ. 2560 - 2564เป็น พ.ศ. 2563 - 2565 เพื่อให้สอดคล้องตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในช่วงแรก ซึ่งจะสิ้นสุดใน พ.ศ. 2565 โดยยังคงการดำเนินการและตัวชี้วัดเดิม จำนวน 7 ข้อ ทั้งนี้ ได้เพิ่มตัวชี้วัดใหม่ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ได้แก่

(1) จำนวนรายการยาจำเป็นที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ อย่างน้อย 20 รายการ/ปี

(2) ร้อยละของประชากรไทยที่มีความรอบรู้ด้านการใช้ยาสมเหตุผลตามเกณฑ์ที่กำหนด อย่างน้อยร้อยละ 50

(3) ร้อยละมูลค่าการผลิตยาชีววัตถุกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 10

(4) มีแนวทางประกอบการพิจารณาผลิตภัณฑ์ยาที่เป็นผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงครบทุกประเภท

(5) จำนวนผลิตภัณฑ์ยานวัตกรรมหรือส่งออกได้รับการอนุญาต อย่างน้อย 30 รายการ/ปี

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ