การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 1

ข่าวการเมือง Tuesday February 23, 2021 18:32 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการฯ) เสนอ ดังนี้
1. ข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ดังนี้

1.1 การปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 74,394.17 ล้านบาท จากเดิม 1,465,438.61 ล้านบาท เป็น 1,539,832.78 ล้านบาท การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้เดิม ที่ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 124,534.37 ล้านบาท จากเดิม 1,279,446.80 ล้านบาท เป็น 1,403,981.17 ล้านบาท และการปรับปรุงแผนการชำระหนี้ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 505.88 ล้านบาท จากเดิม 387,354.84 ล้านบาท เป็น 387,860.72 ล้านบาท

1.2 การบรรจุโครงการพัฒนา โครงการ และรายการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 1 จำนวน 18 โครงการ/รายการ

1.3 ให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) ต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 ปรับปรุงครั้งที่ 1 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งดังกล่าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย 2. การกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อ การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดกู้เงินโควิด-19ฯ) รวมทั้งอนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 ปรับปรุงครั้งที่ 1 และให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ

สาระสำคัญของเรื่อง
1. คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการฯ) ในคราวการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 1 สรุปได้ ดังนี้

หน่วย : ล้านบาท

วงเงินเดิม

1. แผนการก่อหนี้ใหม่ 1,465,438.61

1.1 รัฐบาล 1,346,170.52

1.2 รัฐวิสาหกิจ 117,460.05

2. แผนการบริหารหนี้เดิม 1,279,446.80

2.1 รัฐบาล 1,140,580.79

2.2 รัฐวิสาหกิจ 137,366.01

3. แผนการชำระหนี้ 387,354.84

3.1 แผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณรายจ่าย 293,454.32

3.2 แผนการชำระหนี้จากแหล่งอื่น ๆ 93,900.52

วงเงินปรับปรุงครั้งที่ 1

1. แผนการก่อหนี้ใหม่ 1,539,832.78

1.1 รัฐบาล 1,412,858.44

1.2 รัฐวิสาหกิจ 125,166.30

2. แผนการบริหารหนี้เดิม 1,403,981.17

2.1 รัฐบาล 1,259,049.84

2.2 รัฐวิสาหกิจ 143,431.33

3. แผนการชำระหนี้ 387,860.72

3.1 แผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณรายจ่าย293,896.19

3.2 แผนการชำระหนี้จากแหล่งอื่น ๆ 93,964.53

เปลี่ยนแปลง

1. แผนการก่อหนี้ใหม่ 74,394.17

1.1 รัฐบาล 66,687.92

1.2 รัฐวิสาหกิจ 7,706.25

2. แผนการบริหารหนี้เดิม 124,534.37

2.1 รัฐบาล 118,469.05

2.2 รัฐวิสาหกิจ 6,065.32

3. แผนการชำระหนี้ 505.88

3.1 แผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณรายจ่าย 441.87

3.2 แผนการชำระหนี้จากแหล่งอื่น ๆ 64.01

จากการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 1 ส่งผลให้หนี้สาธารณะรวม ประจำปีงบประมาณ 2564 ปรับเพิ่มขึ้น โดยสาระสำคัญของการปรับปรุงแผนฯ ในครั้งนี้ คือ

(1) การกู้เงินเพื่อดำเนินแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชี้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดกู้เงินโควิด-19ฯ) จำนวน 76,239.00 ล้านบาท

(2) การปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 120,000 ล้านบาท เนื่องจากรายจ่ายสูงกว่ารายได้

(3) การกู้เงินเพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานภาครัฐและโครงการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจ เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วงบางซื่อ - รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการขยายระบบไฟฟ้า ระยะที่ 12 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น รวมทั้งในครั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการพัฒนา โครงการ และรายการที่จะขอบรรจุเพิ่มเติมและต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี จำนวน 18 โครงการหรือรายการ เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วงบางซื่อ - รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางของการยางแห่งประเทศไทย เป็นต้น และ (4) การชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจำนวน 441.87 ล้านบาท 2. ในแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 ปรับปรุงครั้งที่ 1 มีรัฐวิสาหกิจ จำนวน 2 แห่ง ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) นับแต่มีการก่อหนี้ในอัตราไม่ต่ำกว่า 1 เท่า ที่ต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561 ข้อ 12 ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิม ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 ปรับปรุงครั้งที่ 1 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย 3. การจัดทำแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 ปรับปรุงครั้งที่ 1 ได้จัดทำขึ้นภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชกำหนดกู้เงินโควิด-19ฯ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561 โดย กค. คาดว่าระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 56.74 (กรอบไม่เกินร้อยละ 60) รวมทั้งได้จัดทำประมาณการหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในช่วงปีงบประมาณ 2565 - 2568 อยู่ระหว่างร้อยละ 56.74 - 59.66 ซึ่งยังอยู่ภายใต้สัดส่วนที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดที่ระดับร้อยละ 60 4. ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า

(1) การพิจารณาเตรียมความพร้อมในการจัดหาแหล่งเงินโดยเฉพาะเงินกู้ให้เพียงพอทั้งในภาวะปกติและภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (Scenario Analysis) เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดำเนินมาตรการของภาครัฐมีความต่อเนื่อง เพียงพอ และทันการณ์ และ

(2) รัฐบาลควรติดตามและเร่งรัดให้หน่วยงานต่าง ๆ เบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่องและเป็นไปตามแผนการกู้เงิน โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่มีความล่าช้า รวมถึงเร่งรัดการอนุมัติโครงการและการเบิกจ่ายเงินกู้ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินโควิด-19ฯ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ