ผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2563

ข่าวการเมือง Tuesday February 23, 2021 18:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุม กนช. ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563
2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติ กนช. และข้อสั่งการของประธาน กนช. ครั้งที่ 4/2563

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กนช. รายงานว่า ในการประชุม กนช. ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานการประชุมฯ มีผลการประชุมสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. เรื่องเพื่อทราบ (7 เรื่อง)

1.1 ผลการประชุมคณะอนุกรรมการภายใต้ กนช. (9 คณะ) แบ่งเป็น

(1) เรื่องเสนอให้ กนช. รับทราบ 24 เรื่อง เช่น มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้งปี 2563/64 แนวทางการแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาค่าน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และแนวทางการพัฒนาทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืนและ

(2) เรื่องที่เห็นชอบให้เสนอ กนช. พิจารณา 7 เรื่อง เช่น แผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง และแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

ความเห็น/ข้อสั่งการของประธาน/มติที่ประชุม

ความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. : (1) โครงการตามนโยบายที่ผ่านความเห็นชอบจาก กนช. และยังไม่มีการขับเคลื่อนจากหน่วยงานเนื่องจากยังไม่มีความพร้อมด้านงบประมาณหรือไม่มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน ขอให้เร่งรัดการดำเนินการและรายงานให้ กนช. ทราบ และ (2) โครงการขนาดใหญ่ที่ดำเนินการขอตั้งงบประมาณ พ.ศ. 2565 แต่ยังไม่ได้เสนอขอความเห็นชอบจาก กนช. หากมีความพร้อมให้เสนอขอความเห็นชอบจาก กนช. ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี

ข้อสั่งการของประธาน : (1) ให้หน่วยงานดำเนินการตามข้อเสนอของฝ่ายเลขานุการ กนช. และ (2) ให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาค ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ กำหนดกรอบเป้าหมายการดำเนินการในพื้นที่และรายงานผลให้ กนช. ทราบ

มติที่ประชุม : รับทราบและเห็นชอบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการภายใต้ กนช. 9 คณะ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. คณะอนุกรรมการ และข้อสั่งการของประธาน กนช. ต่อไป

1.2 ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำ ที่มีการประชุมในเดือนกันยายน 2563 รวม 7 เรื่อง เช่น โครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ และร่างแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและร่างแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม และในเดือนธันวาคม 2563 รวม 7 เรื่อง เช่น พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำและมาตรการรองรับและร่างแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปี 2565

ความเห็น/ข้อสั่งการของประธาน/มติที่ประชุม

ข้อสั่งการของประธาน : ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการลุ่มน้ำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

มติที่ประชุม : รับทราบผลการดำเนินงานคณะกรรมการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสั่งการของประธาน กนช. ต่อไป

1.3 การดำเนินการตามบทเฉพาะกาลในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เมื่อครบกำหนดสองปี

ความเห็น/ข้อสั่งการของประธาน/มติที่ประชุม

มติที่ประชุม : รับทราบการดำเนินการตามบทเฉพาะกาลในพระราชบัญญัติฯ เมื่อครบกำหนดสองปี รวม 3 เรื่อง ได้แก่ (1) คณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำ ปฏิบัติหน้าที่เมื่อพ้นกำหนดสองปี (อยู่ระหว่างหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) (2) การจัดทำผังน้ำเมื่อพ้นกำหนดสองปี ตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และ (3) การจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ รวม 30 ฉบับ

1.4 ความก้าวหน้าการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวม 6 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 (มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563) วงเงิน 2,446.16 ล้านบาท

(2) โครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง (มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563) วงเงิน 7,077.05 ล้านบาท

(3) โครงการเพื่อเตรียมการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย รวมถึงการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563) วงเงิน 502.90 ล้านบาท

(4) โครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่ 76 จังหวัด ทั่วประเทศ (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563) วงเงิน 8,567.94 ล้านบาท

(5) โครงการเพื่อเตรียมการรับมือบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ ในฤดูฝนปี 2563 (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563) วงเงิน 4,645.72 ล้านบาท

(6) โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (นายกรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563) วงเงิน 24.53 ล้านบาท

ความเห็น/ข้อสั่งการของประธาน/มติที่ประชุม

ความเห็นของ กนช. : ในการของบกลางฯ ครั้งต่อไป หน่วยงานควรพิจารณาโครงการที่มีความพร้อมทั้งแบบรูปรายการและพื้นที่ดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการและสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ทันต่อไป

ข้อสั่งการของประธาน : (1) ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กำกับทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ และ (2) สำหรับการเสนอของบกลางฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้ตรวจสอบกลั่นกรองโครงการไม่ให้มีความซ้ำซ้อน และมีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที

มติที่ประชุม : รับทราบความก้าวหน้าการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลางฯ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของ กนช. และข้อสั่งการของประธาน กนช. ต่อไป

1.5 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 (9 มาตรการ) เช่น การเร่งเก็บกักน้ำก่อนสิ้นสุดฤดูฝน และการจัดหาแหล่งสำรองน้ำดิบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

ความเห็น/ข้อสั่งการของประธาน/มติที่ประชุม

ข้อสั่งการของประธาน : (1) ให้หน่วยงานเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝน และรายงานผลให้ สนทช. ทราบเป็นระยะ และ (2) ให้หน่วยงานจัดหาแหล่งน้ำดิบสำรองให้เพียงพอต่อการผลิตประปาในฤดูแล้ง

มติที่ประชุม : รับทราบมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสั่งการของประธาน กนช. ต่อไป

1.6 ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการตามนโยบายที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ตรวจราชการในพื้นที่ และมติ กนช. ได้แก่ (1) โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำบึงสีไฟ (2) โครงการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร จังหวัดพิจิตร และ (3) โครงการพัฒนาและฟื้นฟูคลองเปรมประชากร

ความเห็น/ข้อสั่งการของประธาน/มติที่ประชุม

ข้อสั่งการของประธาน : (1) ให้ สทนช. บูรณาการหน่วยงานในการจัดทำแผนหลักการอนุรักษ์และฟื้นฟูบึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร และขนย้ายมูลดินออกโดยเร็ว (2) ให้กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำ เร่งดำเนินการโครงการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตรให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และ (3) ให้กรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการโครงการอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้

มติที่ประชุม : รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการตามนโยบายที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ตรวจราชการในพื้นที่ และที่ กนช. มีมติเห็นชอบ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสั่งการของประธาน กนช. ต่อไป

1.7 รายงานการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสภาน้ำแห่งเอเชีย ครั้งที่ 12 (12th AWC Board of Council Meeting)

ความเห็น/ข้อสั่งการของประธาน/มติที่ประชุม

มติที่ประชุม : รับทราบผลการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสภาน้ำฯ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยมีสาระสำคัญ เช่น เห็นชอบกำหนดการสำหรับการจัดการประชุมสัปดาห์น้ำแห่งเอเชีย ครั้งที่ 2 (2nd Asia International Water Week: AIWW) ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2564 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และกระทรวงทรัพยากรน้ำแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัปดาห์น้ำแห่งเอเชีย ครั้งที่ 3 2. เรื่องเพื่อพิจารณา (6 เรื่อง)

2.1 การขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) จำนวน 4 แผน/โครงการ

1) แผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง ของกรมโยธาธิการและผังเมือง แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2565-2569) ระยะกลาง (พ.ศ. 2570-2574) และระยะยาว (พ.ศ. 2575 ขึ้นไป) มีกรอบวงเงินประมาณ 26,000 ล้านบาท (ครอบคลุมพื้นที่ 226.47 ตารางกิโลเมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ 144,520 ครัวเรือน)

ความเห็นของ กนช. : (1) ควรมีการจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการตามแผน โดยเฉพาะในกลุ่มโครงการระยะเร่งด่วนตั้งแต่ พ.ศ. 2565-2569 ซึ่งมีวงเงินงบประมาณ 9,500 ล้านบาท ขอให้เตรียมความพร้อมต่าง ๆ พร้อมทั้งพื้นที่ดำเนินการไว้ด้วย และ (2) แหล่งเงินที่จะสนับสนุนดำเนินการในแต่ละระยะควรพิจารณาแหล่งเงินอื่น ๆ นอกเหนือจากงบประมาณตามความเหมาะสมด้วย เช่น เงินรายได้ของเมืองพัทยา เงินกู้ หรือการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)

ข้อสั่งการของประธาน : (1) ให้ สทนช. รับข้อสังเกตของสำนักงบประมาณ (สงป.) ไปพิจารณาดำเนินการด้วย (2) ให้เมืองพัทยาประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนในระยะเร่งด่วนโดยเร็ว และ (3) ให้หน่วยงานดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ และ กนช.

มติที่ประชุม : (1) เห็นชอบแผนหลักการแก้ไขปัญหาฯ และ (2) ให้เมืองพัทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ คณะกรรมการลุ่มน้ำ กนช. และข้อสั่งการของประธาน กนช. ต่อไป

2) แผนหลักการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงเพื่อวางทิศทางการพัฒนาและแนวทาง การขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวข้อง 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การพัฒนาใช้น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ระยะที่ 2 การพัฒนาใช้น้ำโขงสู่ลุ่มน้ำข้างเคียง แบ่งเป็น 2 ระยะย่อย ระยะที่ 3 การพัฒนาใช้น้ำโขง โดยแรงโน้มถ่วงสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และระยะที่ 4 การพัฒนาเขื่อนปากชม เพื่อประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและเสริมความมั่นคงด้านน้ำแก่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อสั่งการของประธาน : (1) ให้ สทนช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) (กรมชลประทาน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนการจัดทำแหล่งเก็บกักน้ำจากแม่น้ำโขงไว้ใช้ในฤดูแล้ง หรืออาจดำเนินการเก็บกักในแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งสามารถรองรับปริมาณน้ำได้จำนวนมาก ให้มีน้ำเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ครอบคลุมทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ (2) ให้ สทนช. และกรมชลประทานดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ และคณะกรรมการลุ่มน้ำต่อไป

มติที่ประชุม : เห็นชอบแผนหลักการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงฯ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ และข้อสั่งการของประธาน กนช. ต่อไป

3) แผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบด้วย 9 แผนงานหลัก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1 การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำและคลองเดิม กลุ่ม 2 การบริหารจัดการพื้นที่ และกลุ่ม 3 การสร้างคลองระบายน้ำหลากสายใหม่ ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 13 ปี (พ.ศ. 2560-2572) และมีกรอบวงเงินงบประมาณ 329,151 ล้านบาท

ข้อสั่งการของประธาน : ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ และคณะกรรมการลุ่มน้ำต่อไป

มติที่ประชุม : (1) เห็นชอบแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสั่งการของประธาน กนช. ต่อไป และ (2) ให้กรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย (มท.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และกรมเจ้าท่าเป็นเจ้าภาพบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเขตคลองให้เกิดความชัดเจน

4) โครงการเพื่อการพัฒนาปี 2564 ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) (19 โครงการ) วงเงินงบประมาณการลงทุนรวม 6,164.945 ล้านบาท

ความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. : (1) โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีฯ ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภค บริโภค (2) ให้ กปภ. ต้องจัดทำแผนแหล่งน้ำสำรองไว้ด้วย หากแหล่งน้ำดิบไม่เพียงพอ และ (3) โครงการที่มีวงเงินงบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องเสนอ กนช. ให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี

ความเห็นของ กนช. : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นว่า กปภ. ควรตรวจสอบตัวเลขงบประมาณอีกครั้ง เนื่องจากมีความแตกต่างกันและดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนให้ถูกต้องต่อไป

ข้อสั่งการของประธาน : ให้ กปภ. ดำเนินการตามความเห็นของ สศช.

มติที่ประชุม : (1) เห็นชอบโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2564ฯ และให้ กปภ. เสนอ สศช. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามระเบียบก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบโครงการต่อไป และ (2) ให้ กปภ. ดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ กนช. และข้อสั่งการของประธาน กนช. ต่อไป

2.2 โครงการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมเสนอขอตั้งงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองกระทิง จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ในแผนพัฒนาแหล่งน้ำ EEC วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,370 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (พ.ศ. 2565-2568)

มติที่ประชุม : (1) เห็นชอบโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองกระทิงฯ และ (2) ให้กรมชลประทานดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญต่อไป

2.3 ร่างแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีแผนงานที่ผ่านการกลั่นกรองจาก สทนช. ในเบื้องต้น ทั้งสิ้น 46,887 รายการ วงเงินงบประมาณ 435,405.61 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์จะได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 365 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ได้รับประโยชน์ 634,610 ไร่ และครัวเรือนได้รับประโยชน์ 89,310 ครัวเรือน

ความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. : (1) ร่างแผนปฏิบัติการฯ สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีฯ (2) แผนงานจากพื้นที่ที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วนทั้งจังหวัด รวม 19 จังหวัด เสนอให้จังหวัดปรับปรุงเพิ่มเติมข้อมูลให้ครบถ้วน และให้เสนอประธาน กนช. พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง (3) ให้หน่วยงานเสนอเพิ่มเติมโครงการสำคัญและโครงการนโยบายที่ต้องดำเนินการในปี 2565 ให้ สทนช. ภายในวันที่ 4 มกราคม 2564 และ (4) ภายหลังการจัดลำดับความสำคัญแล้ว ให้เสนอประธาน กนช. พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง

ข้อสั่งการของประธาน : (1) ให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับแผนงานด้านน้ำ และให้เสนอ กนช. ตามขั้นตอนการจัดทำแผนก่อนเสนอขอตั้งงบประมาณ และ (2) สำหรับหน่วยงานที่ต้องไปทำข้อมูลเพิ่มเติม ให้เร่งเสนอ สทนช. ภายในวันที่ 4 มกราคม 2564

มติที่ประชุม : (1) เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการฯ และหลักเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญแผนงาน/โครงการ (2) ให้ สทนช. เสนอร่างแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป และ (3) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. และข้อสั่งการของประธาน กนช. ต่อไป

2.4 การกำหนดรูปแบบและแนวทางการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนอง จำนวน 174 พื้นที่ ขนาดพื้นที่เก็บน้ำรวม 2,323,208 ไร่ โดยคณะอนุกรรมการกำหนดรูปแบบและแนวทางการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองมีความเห็น ดังนี้

(1) ให้กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำขับเคลื่อนงานด้านการสำรวจ ออกแบบการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนอง โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนการดำเนินงานการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองโดยเร็ว

(2) ให้กระทรวงการคลัง (กค.) กำหนดหลักเกณฑ์และหรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกำหนดค่าทดแทนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 เรื่อง แนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่ได้รับอิทธิพลจากพายุและการช่วยเหลือดูแลประชาชน และวันที่ 10 กันยายน 2562 เรื่อง ขออนุมัติงบกลางปี 2562 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเนื่องจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ

ข้อสั่งการของประธาน : (1) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการกำหนดรูปแบบฯ และข้อเสนอใน กนช. ต่อไป และ (2) ให้ สทนช. ดูพื้นที่เก็บกักน้ำ อย่าให้กระทบกับพื้นที่ทำกินของประชาชนด้วย

มติที่ประชุม : (1) เห็นชอบบัญชีพื้นที่ลุ่มต่ำ 174 พื้นที่ เป็นพื้นที่รับน้ำนอง (2) ให้คณะอนุกรรมการกำหนดรูปแบบฯ จัดทำแผนหลักการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม โดยกำหนดหน่วยดำเนินการและจัดทำโครงการนำร่องให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนปี 2564 (3) ให้ กษ. และ มท. ร่วมกับ สทนช. กำหนดหลักเกณฑ์และหรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกำหนดค่าทดแทนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 และวันที่ 10 กันยายน 2562 ให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝน ปี 2564 และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป และ (4) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของผู้แทน กค. คณะอนุกรรมการกำหนดรูปแบบฯ และข้อสั่งการของประธาน กนช. ต่อไป

2.5 ร่างระเบียบและประกาศ กนช. จำนวน 6 ฉบับ ที่ผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 5 (คกอ. 5)

มติที่ประชุม : เห็นชอบร่างระเบียบและประกาศ กนช. 6 ฉบับ ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจาก คกอ. 5 และให้นำเสนอประธาน กนช. ลงนามต่อไป

2.6 ร่างรายงาน Country Survey Instrument for SDG Indicator 6.5.1 และ ร่าง Reporting SDG Indicator 6.5.2 เสนอองค์การสหประชาชาติ โดยร่าง Country Surveyฯ ใช้กลไกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมประเมิน และร่าง Reportingฯ เป็นการติดตามการประเมินสถานะสัดส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำข้ามพรมแดน

ความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. : ให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบเป้าหมายย่อย SDG 6 รายงานผลการขับเคลื่อนให้ สทนช. พิจารณาเพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ และ กนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับก่อนรายงานต่อองค์การสหประชาชาติ

มติที่ประชุม : (1) เห็นชอบทั้ง 2 ร่าง เพื่อจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป (2) ให้เลขาธิการ สทนช. ลงนามในเอกสารร่างรายงานดังกล่าว และเสนอประธาน กนช. ลงนามในหนังสือนำส่งโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ต่อไป และ (3) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. 3. เรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น

3.1 การจัดทำคู่มือข้อมูลพื้นฐาน 22 ลุ่มน้ำ

มติที่ประชุม : รับทราบการจัดทำคู่มือข้อมูลพื้นฐาน 22 ลุ่มน้ำ โดยมีเนื้อหา เช่น พัฒนาการแบ่งลุ่มน้ำในประเทศไทย หลักการในการแบ่งลุ่มน้ำ ข้อมูลพื้นฐานลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ ข้อมูลโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในปัจจุบัน และแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ

3.2 โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

มติที่ประชุม : รับทราบโครงการฯ โดยนำการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินการซ่อมแซม เสริมศักยภาพแหล่งน้ำ ซึ่งการดำเนินงานโครงการสอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีฯ และมีการบูรณาการทุกภาคส่วน

4. ข้อสั่งการเพิ่มเติมของประธาน กนช.

4.1 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการและนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดไว้

4.2 แผนงานโครงการของหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณแล้ว ขอให้เร่งดำเนินการและรายงานให้ กนช. ทราบด้วย

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ