เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างเป็นระบบ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างเป็นระบบ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างเป็นระบบ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างเป็นระบบ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างเป็นระบบ มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีข้อสังเกตรวม 4 ประเด็น ได้แก่ (1) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ของฟรี มีต้นทุนการใช้งาน (2) กลไกตลาดสามารถนำมาใช้สะท้อนต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน (3) ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา (4) ข้อสังเกตแบ่งตามแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)
2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตามข้อ 1 ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานและข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทส. เสนอว่า ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว ที่ประชุมมีความเห็นว่ารายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญในเรื่องนี้ส่วนใหญ่มีความสอดคล้องกับการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ?การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง? และมีความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สรุปได้ดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากการคมนาคม ควรพิจารณาการจัดการแก้ไขปัญหาที่แหล่งกำเนิดภาคคมนาคมขนส่งทางน้ำ ให้มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รถยนต์ของส่วนราชการควรเป็นรถยนต์มลพิษต่ำ ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ คค. ตช. อก. กค. พน. และ ทส. ให้ความสำคัญและส่วนใหญ่ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จึงควรเป็นหลักการในการดำเนินการต่อไป
2. การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากภาคอุตสาหกรรมควรสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงเครื่องฟอกอากาศ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพโดยใช้มาตรการจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ อาธิ สธ. พณ. อก. พน. และ อว. ต้องร่วมกันดำเนินการให้เป็นทิศทางเดียวกัน ทั้งในส่วนของมาตรฐานและนวัตกรรมการผลิต การควบคุมราคา การส่งเสริมด้านการตลาด รวมถึงพัฒนามาตรการจูงใจให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากภาคอุตสาหกรรม
3. การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากการเผาในที่โล่ง ควรให้ความสำคัญกับมาตรการจัดการเชื้อเพลิง และการบริหารจัดการเศษซากวัสดุจากการเกษตร สนับสนุน ส่งเสริมการขยายผลต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี บูรณาการการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนข้อมูลและเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการการเผาของพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสร้างความตระหนัก และส่งเสริมการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการเผาในที่โล่งจากภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการดำเนินการที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ มท. กษ. ทส. อก. พน. กค. อว. และ ดศ. ให้ความสำคัญและส่วนใหญ่ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจึงควรถือเป็นหลักการในการดำเนินการต่อไป
4. การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากไฟป่าในพื้นที่อนุรักษ์จัดสรรงบประมาณ และบุคลากรเพิ่มเติม รวมทั้งจัดสรรงบประมาณในการเฝ้าระวัง และดูแลสุขภาพบุคลากรภาคสนาม บูรณาการข้อมูลปริมาณเชื้อเพลิง พื้นที่ป่า เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่เสี่ยงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไฟป่า ควรกำหนดกฎระเบียบตลาดคาร์บอนเครดิตของภาคเอกชนสำหรับการปลูกป่า ซึ่ง ทส. มท. และ ดศ. ให้ความสำคัญและส่วนใหญ่ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จึงควรถือเป็นหลักการในการดำเนินการต่อไป
5. การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากหมอกควันข้ามแดน ควรประสานงานเลขาธิการอาเซียนและกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อสนับสนุนเสริมสร้างศักยภาพในการติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์คุณภาพอากาศ ประสานความร่วมมือเพื่อขอให้ประเทศต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงยกระดับการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่งและการจัดการไฟป่า รวมทั้งการบูรณาการรูปแบบการรายงานและการแจ้งเตือนสถานการณ์มลพิษอากาศกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการดำเนินงานซึ่ง กต. ทส. ดศ. ให้ความสำคัญและส่วนใหญ่ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเด็นการบังคับใช้กฎหมายควรเป็นไปตามบริบทและความพร้อมของแต่ละประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษ
6. กต. เห็นว่า นอกจากความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ภายใต้กลไกในกรอบอาเซียน อาทิ ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่ดำเนินการอยู่แล้ว ฝ่ายไทยอาจพิจารณาใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือระดับทวิภาคีที่มีอยู่ควบคู่ไปด้วย เช่น การประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย - กัมพูชา และการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนและเจ้าแขวงไทย - ลาว ซึ่ง มท. เป็นเจ้าภาพ รวมทั้งเห็นควรมุ่งเน้นแนวทางการป้องกันล่วงหน้าเพื่อลดความรุนแรงและผลกระทบจากปัญหาหมอกควันข้ามแดน และการแสวงหาความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาอาเซียนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ เช่น เครือข่ายออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งเสริมศักยภาพของหน่วยงานท้องถิ่นทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564