การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร

ข่าวการเมือง Tuesday February 23, 2021 19:04 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 และสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ

เรื่องเดิม

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 9) ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2564 และสิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อขยายระยะเวลาการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถารการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เกิดขึ้นในประเทศ

การดำเนินการที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติได้จัดการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในการแก้ไขการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปเป็นคราวที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 - 31 มีนาคม 2564 โดยมีเหตุผลและความจำเป็น สรุปผลการประชุม ดังนี้

1. ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในภาพรวมทั่วโลกยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในหลายภูมิภาค และยังมีการยืนยันว่าพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์ในสหราชอาณาจักร สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และไนจีเรีย ทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อผลลัพธ์ประสิทธิภาพของวัคซีนในการตอบสนองต่อการกลายพันธุ์ว่าจะสามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด ทั้งนี้ ในหลายประเทศมีการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์ และได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคควบคู่กับการกลับมาใช้มาตรการทางด้านสาธารณสุขที่เข้มงวดอีกครั้ง อาทิ สหราชอาณาจักร และประเทศญี่ปุ่น

2. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยยังคงน่าวิตก อีกทั้งการเกิดรัฐประหารในประเทศเมียนมาทำให้มีการชุมนุมของชาวเมียนมาเพื่อประท้วงรัฐบาลเมียนมาในประเทศไทยหลายจุด และอาจเป็นสาเหตุให้มีผู้ลักลอบเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมากในอนาคต นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ เกิดขึ้นภายในประเทศ จนอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อในหลายพื้นที่ในวงกว้าง ประกอบกับได้พบการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศในแหล่งที่พักอาศัยและในชุมชน อาทิ ตลาด อย่างต่อเนื่อง และยังพบว่ามีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อในหลายจังหวัดที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยรายเดิม จึงยังต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันมิให้เกิดการติดเชื้อในแบบกลุ่มก้อน (Cluster) ภายในประเทศ

3. มติของที่ประชุม ที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่า ยังมีความจำเป็นจะต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ควบคู่ไปกับการพัฒนากลไกกฎหมายปกติในการบูรณาการการปฏิบัติงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างเพียงพอในการดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ 1) การเฝ้าระวังและสอบสวนโรคเพื่อหาแหล่งที่มาของการติดเชื้อ 2) การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศ และ 3) การคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในระบบสาธารณสุขของประเทศ

4. สำนักงานฯ ได้นำผลการประชุมดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 3/2564 ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อพิจารณา ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบผลการประชุมและมีมติให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ