ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 24 (The 24th GMS Ministerial Conference)

ข่าวการเมือง Tuesday February 23, 2021 19:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Subregion: GMS) ครั้งที่ 24 และมอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 24 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ
1. รัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มน้ำโขงให้ความเห็นชอบในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1.1 แถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 24 รับทราบถึงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของ 10 สาขาความร่วมมือ และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศ GMS ในระยะปี 2563 และแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปี 2564 - 2566 ให้แล้วเสร็จ เพื่อนำเสนอในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ครั้งที่ 7 ต่อไป

1.2 รายงานความก้าวหน้าและการปรับปรุงครั้งที่ 3 กรอบการลงทุนของภูมิภาค ปี 2565 ประกอบด้วยแผนงาน/โครงการลงทุนในอนุภูมิภาค GMS ทั้งสิ้น 205 โครงการ มีมูลค่ารวมกันกว่า 78.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยโครงการของประเทศไทย (ไทย) มีทั้งสิ้น 74 โครงการ มูลค่ารวม 17.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 22.73 ของโครงการทั้งหมด โดยโครงการมูลค่าลงทุนสูงของไทยที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ได้แก่ ได้แก่ โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ในประเทศ มูลค่า 12,192 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มูลค่า 2,279 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

1.3 ร่างกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ของแผนงาน GMS ในระยะปี 2563 โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ร่วมกันปรับปรุงร่างกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว

1.4 แนวทางการจัดตั้งคณะทำงานด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานในอนุภูมิภาค GMS และข้อกำหนดการศึกษาการจัดตั้งคณะทำงาน ให้ผู้ประสานงานหลักระดับประเทศเป็นตัวกลางช่วยจัดตั้งคณะทำงาน

1.5 ร่างเอกสารแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบด้วย 3 เสา ได้แก่ การปกป้องชีวิตผ่านด้านสาธารณสุข การปกป้องผู้เปราะบางและผู้ยากไร้ และการเปิดพรมแดนและความเร่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 2. รัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงรับทราบรายงานของการประชุมเวทีหารือ เพื่อการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ ครั้งที่ 11 รายงานของภาคีหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา และรายงานของสภาธุรกิจ 6ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง สรุปได้ ดังนี้

2.1 รายงานของการประชุมเวทีหารือเพื่อการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ ครั้งที่ 11 มีประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1) ประเทศสมาชิก GMS และภาคีหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2) เชื่อมโยงอนุภูมิภาค GMS เข้าด้วยกันและเชื่อมออกไปสู่โลกภายนอก

2.2 รายงานของภาคีหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา มีประเด็นสำคัญประกอบด้วย 1) มุ่งเน้นการบูรณาการเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาคสู่เศรษฐกิจโลกตลอดจนยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 2) เพิ่มบทบาทของเมืองในฐานะกลไกส่งเสริมการเติบโตของอนุภูมิภาค 3) พัฒนาความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและความร่วมมือทางการค้า

2.3 รายงานของสภาธุรกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง มุ่งเน้นใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ 2) การอำนวยความสะดวกการค้า และการขนส่งข้ามพรมแดน เร่งส่งเสริมการลงทุนในกิจการเกษตรอุตสาหกรรม และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย 3) การพัฒนาศักยภาพของแรงงาน

นอกจากนี้ รัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงได้รับทราบการนำเสนอผลสรุปและข้อเสนอแนะต่อรายงานการศึกษาเกี่ยวกับการบูรณาการการยกระดับเมือง และการเชื่อมโยงใน GMS โดยผล

จากการศึกษาได้ระบุปัจจัยแห่งความสำเร็จใน 3 ประเด็นคือ 1) การมุ่งเน้นการบูรณาการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาและปรับโครงสร้างด้านอุตสาหกรรม 2) ส่งเสริมบทบาทของเมืองรองในฐานะกลไกขับเคลื่อนการพัฒนา และ 3) การปรับปรุงสาธารณูปโภคของเมืองเพื่อการเชื่อมโยงและการบูรณาการด้านการค้า 3. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายถาวร เสนเนียม) ได้มีข้อเสนอต่อที่ประชุม ประกอบด้วย

3.1 เน้นย้ำถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานตามกรอบการลงทุนในภูมิภาค พ.ศ. 2563 (Regional Investment Framework: RIF2020)

3.2 เห็นชอบต่อร่างกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ของแผนงาน GMS ในระยะปี 2563 เนื่องจากได้นำเสนอเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 โดยสนับสนุนให้คณะทำงานด้านสุขภาพเป็นตัวหลักในการทำหน้าที่ดูแลและติดตามผลการพัฒนาวัคซีนเพื่อกระจายวัคซีนในอนุภูมิภาคอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ

3.3 เน้นย้ำการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านกฎระเบียบในอนุภูมิภาค GMS โดยขอให้ประเทศสมาชิก GMS เร่งผลักดันการดำเนินงานตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Agreement: CBTA) ในด้านการปรับปรุงกฎระเบียบการดำเนินงานบริเวณด่านพรมแดน รวมทั้งเร่งปรับปรุงและเผยแพร่กฎระเบียบการขนส่งสินค้าและการเคลื่อนย้ายคนตามแนวระเบียงเศรษฐกิจให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและมีความปลอดภัยด้านสุขภาพ เพื่อให้เกิดการบูรณาการห่วงโซ่มูลค่าของอนุภูมิภาคเข้ากับห่วงโซ่มูลค่าโลกต่อไป 4. ประเทศสมาชิก GMS และธนาคารพัฒนาเอเชียมีความเห็นพ้องกันในประเด็น ดังนี้

4.1 ความสำคัญของร่างกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ของแผนงาน GMS ในระยะปี 2563 และร่างแผนการรับมือและฟื้นฟูโรคโควิด-19 ของ GMS ปี 2564 ? 2566 ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกต้องจัดลำดับความสำคัญของนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

4.2 ผลการประชุมเวทีหารือเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ครั้งที่ 11 รายงานของภาคีหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา และรายงานของสภาธุรกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยเห็นถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และความตกลงทางการค้าเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกอนุภูมิภาค GMS รวมทั้งได้เน้นย้ำการสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

รัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงรับทราบการกำหนดจัดการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานGMS ครั้งที่ 7 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม 2564 โดยราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ

การดำเนินงานในระยะต่อไปของแผนงาน GMS ไทยได้ผลักดันการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่ากับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS ปี 2012 ? 2022 จนเกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม เช่น การปรับปรุงถนนทางหลวงตาก-แม่สอด-เมียวดี แล้วเสร็จ การเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 (ข้ามแม่น้ำเมย-ตองยิน) การเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) และแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) และอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการมูลค่าลงทุนสูง เช่น โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ในประเทศ โครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน นอกจากนี้ ได้มีการผลักดันการดำเนินการทางด้านกฎระเบียบคือ การเริ่มดำเนินงานภายใต้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) ในระยะเริ่มแรกและการดำเนินงานในระยะต่อไป ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS ฉบับใหม่ ปี 2020 และในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นการต่อยอดจากการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ