เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การทบทวนกระบวนการพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การทบทวนกระบวนการพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การทบทวนกระบวนการพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ยกเลิกมาตรา 145/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้ใช้มาตรา 145 (เดิม) และ 2) การตรวจสอบถ่วงดุลคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการโดยผู้ว่าราชการจังหวัด
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ ยธ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและ ความเหมาะสมของข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ยธ. เสนอว่า ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยพิจารณาข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ แล้วสรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
1. ยกเลิกมาตรา 145/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้ใช้มาตรา 145 (เดิม) โดยมีความเห็นเป็นสองฝ่าย ดังนี้
1.1 ฝ่ายที่หนึ่ง เห็นควรให้มีการทบทวนกระบวนการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการตามมาตรา 145/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบการบริหารงานราชการส่วนภูมิภาค และเป็นตัวแทนฝ่ายบริหารที่มีความเป็นกลางไม่มีส่วนได้เสีย จึงมีความเหมาะสมในการพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้อง
1.2 ฝ่ายที่สอง เห็นควรให้คงไว้เพื่อให้มีระบบถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจซึ่งกันและกันระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ และให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศ ทั้งใน เขตกรุงเทพมหานครและในจังหวัดอื่นเป็นระบบอย่างเดียวกัน ซึ่งกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาฝ่ายตำรวจมีอำนาจใน การพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ จึงเห็นควรให้มีการทบทวนความเหมาะสมของกระบวนการพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการดังกล่าวโดยให้ดำเนินการตามหลักการมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 โดยให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง นำสถิติการดำเนินงานต่าง ๆ มาวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่าที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมาย ทุกขั้นตอน
2. การตรวจสอบถ่วงดุลคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เห็นควรเพิ่มเติมคณะกรรมการกลั่นกรองการสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการเพื่อเป็นการส่งเสริมหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้การดำเนินคดีอาญาในชั้นการสอบสวนฟ้องร้องมีความรอบคอบ และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี กระบวนการดังกล่าวอาจเกิดปัญหาในเรื่องของระยะเวลาในการดำเนินการและผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองนั้นมีสภาพบังคับต่อผู้มีอำนาจในการพิจารณาทบทวนคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการหรือไม่ เพียงใด ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มขั้นตอนและส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดีอาญาดังกล่าว นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการกลั่นกรอง และประเภทคดีให้มีความเหมาะสม ไม่ซ้ำซ้อนกับการดำเนินการโดยองค์กรอื่น ๆ ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงหลักการมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่บัญญัติให้รัฐพึงใช้ระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็นด้วย
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มีนาคม 2564