1. รับทราบมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2563 (ครั้งที่ 152) ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. ในการดำเนินโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ระยะที่ 1 ให้กระทรวงพลังงาน กกพ. และสำนักงาน กกพ. เร่งดำเนินการกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละกลุ่มเป้าหมาย หลักเกณฑ์การคัดเลือก ขั้นตอนการดำเนินการและกรอบระยะเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน โดยคำนึงถึงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการในวงกว้างให้ประชาชนรับทราบ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมทั้งให้ติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างเป็นระบบ โดยให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินโครงการ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการกำหนดการดำเนินโครงการในระยะต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
1.1 โดยที่ กพช. และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งมีการปรับปรุงเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการโซลาร์ภาคประชาชนฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจึงได้มอบหมาย กกพ. พิจารณาปรับปรุงแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าฯ โดยให้ขยายผลไปยังกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล (โครงการใหม่) และในกลุ่มบ้านอยู่อาศัยให้ปรับเพิ่มอัตรารับซื้อให้ผลตอบแทนดีขึ้นเพื่อจูงใจประชาชนให้เข้าร่วมโครงการ รวมถึงกำหนดเป้าหมายกำลังผลิตสะสม 100 เมกะวัตต์ [เฉพาะปี 2564 โดยได้รวมเป้าหมายสะสมในปี 2563 จำนวน 50 เมกะวัตต์ เข้ากับเป้าหมายปี 2564 จำนวน 50 เมกะวัตต์]
1.2 กบง. ในคราวประชุมครั้งที่ 8/2563 (ครั้งที่ 22) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ตามที่ กกพ. เสนอ และได้เสนอ กพช. พิจารณา ซึ่ง กพช. พิจารณาแล้วเห็นชอบ ดังนี้
แนวทางฯ ตามแผน PDP 2018 ปี 2563
กลุ่มเป้าหมายกลุ่มบ้านอยู่อาศัย
ปริมาณรับซื้อ 100 เมกะวัตต์
ราคารับซื้อ ไฟฟ้าส่วนเกิน 1.68 บาท/หน่วย
ระยะเวลารับซื้อ10 ปี
แนวทางฯ ตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (ตามมติ กพช. ครั้งที่ 3/2563) ปี 2564
กลุ่มเป้าหมาย (1)
กลุ่มบ้านอยู่อาศัย 1
ปริมาณรับซื้อ 50 เมกะวัตต์
ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน 2.20 บาท/หน่วย
ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี
กลุ่มเป้าหมาย (2)
กลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาลและสูบน้ำเพื่อการเกษตร2 (โครงการนำร่อง) โดยมีกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 กิโลวัตต์แต่น้อยกว่า 200 กิโลวัตต์
ปริมาณรับซื้อโรงเรียนและสถานศึกษา20 เมกะวัตต์
โรงพยาบาล 20 เมกะวัตต์
สูบน้ำเพื่อการเกษตร 10 เมกะวัตต์
ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน 1.00 บาท/หน่วย
ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี
หมายเหตุ: 1. กลุ่มที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ให้ใช้ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบในอัตรา 2.20 บาท/หน่วย เช่นกัน โดยให้อัตราใหม่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564
ทั้งนี้ มอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปในกรณีการลงทุนโดยภาครัฐในส่วนของกลุ่มโรงเรียนฯ มอบหมายให้ พน. โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานรับไปหารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม 2. แนวทางการกำหนดมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชน
2.1 การกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าโดย กกพ. ต้องอยู่ภายใต้นโยบายและแนวทางที่ กพช. ให้ความเห็นชอบ แต่โดยที่ไม่สามารถจัดการประชุม กพช. ได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พน. จึงเสนอให้มอบหมาย กบง. เป็นผู้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์สำหรับมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานไฟฟ้าสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
2.2 กบง. ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ได้ดำเนินการดังกล่าวแล้วและมีมติเห็นชอบมาตรการด้านไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนรวม 23.70 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 97 ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ รวม 3 มาตรการ เป็นระยะเวลา 2 เดือน (เดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2564) โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 8,202 ล้านบาท ดังนี้
(1) มาตรการที่ 1 ค่าไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน จำนวน 10.13 ล้านราย ทั้งนี้ ให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,649.98 ล้านบาท
(2) มาตรการที่ 2 ลดค่าไฟฟ้าในส่วนของหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจาก ใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนธันวาคม 2563 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย/เดือน ซึ่งติดตั้งมิเตอร์ 5 แอมป์ขึ้นไปหรือมิเตอร์แบบอัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาใช้งาน (Time of Use: TOU) จำนวน 11.83 ล้านราย ทั้งนี้ ให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,752 ล้านบาท โดยมีแนวทางการคิดค่าไฟฟ้าตามกรณี ดังนี้
กรณีมาตรการ
1. ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับหน่วยตามใบแจ้งหนี้เดือนฐาน (ธันวาคม 2563)
คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริงประจำเดือนนั้น ๆ
2. ใช้ไฟฟ้ามากกว่าหน่วยตามใบแจ้งหนี้เดือนฐาน
2.1 กรณีไม่เกิน 500 หน่วย
คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนฐาน
2.2 กรณีมากกว่า 500 หน่วย แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วย
คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนฐาน
บวกกับส่วนที่เกินในอัตราร้อยละ 50
2.3 กรณีมากกว่า 1,000 หน่วย
คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนฐาน
บวกกับส่วนที่เกินในอัตราร้อยละ 70
(3) มาตรการที่ 3 ค่าไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจรวมกับที่อยู่อาศัย ซึ่งมีความต้องการพลังไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาทีสูงสุด ต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ ทั้งนี้ ให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 800 ล้านบาท
2.3 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอเรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจในระยะเร่งด่วน (เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564) จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในระลอกใหม่ ซึ่งรวมถึงมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้า) สำหรับประชาชนทั่วไปตามมติ กบง. ดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (12 มกราคม 2564) เห็นชอบแล้ว
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มีนาคม 2564