การพัฒนากฎหมายภาครัฐ (การปรับปรุงหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ)

ข่าวการเมือง Tuesday March 2, 2021 18:17 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทั้ง 2 ข้อตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ ดังนี้

1. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 และวันที่ 6 กันยายน 2548 ที่มี มติรับทราบและเห็นชอบการพัฒนากฎหมายตามนโยบายรัฐบาลตามที่คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนากฎหมายเสนอ ซึ่งรวมถึงแนวทางการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ โดยมอบหมายให้ สคก. รับผิดชอบพัฒนาหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐให้เหมาะสมแก่กาลสมัย โดยไม่ต้องนำเสนอหลักสูตรให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบอีก แต่ให้รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเป็นระยะ ทั้งนี้ ผู้ซึ่งจะผ่านการฝึกอบรมต้องมีผลงานวิชาการส่วนบุคคลเกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่อยู่ใน ความรับผิดชอบของหน่วยงานต้นสังกัดเผยแพร่ต่อสาธารณะในเว็บไซต์ของ สคก. ด้วย

2. ให้ สคก. พัฒนาวิธีการฝึกการอบรมและพัฒนานักกฎหมายภาครัฐให้ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และอาจมอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐจัดการฝึกอบรมนักกฎหมายภาครัฐในสังกัดของตนเองตามหลักสูตรที่ สคก. กำหนด ทั้งนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมต้องได้รับการอนุมัติให้ผ่านการฝึกอบรมจาก สคก. ตามหลักเกณฑ์ที่ สคก. กำหนดเพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพการฝึกอบรม

ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ทั้งนี้ สคก. เสนอว่า

1. การอบรมนักกฎหมายภาครัฐตามหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐเป็นไป ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 กันยายน 2548 ซึ่งเป็นระยะเวลานานกว่า 15 ปีแล้ว เนื้อหาของหลักสูตรและวิธีการจัดการฝึกอบรมและพัฒนานักกฎหมายภาครัฐไม่สอดคล้องกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลักการพัฒนากฎหมายให้ดีขึ้น เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน (Better Regulation for Better Life) ตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือ การประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน รวมทั้งต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง (stakeholder consultation) วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment : RIA) อย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชนตามหลัก Open Government และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอนและรัฐพึงจัดให้มีการประมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย (ex post evaluation) แต่ละฉบับทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

2. นอกจากเนื้อหาของหลักสูตรที่ต้องพัฒนาแล้ว วิธีการจัดการฝึกอบรมและพัฒนาต้องปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นด้วย โดยเฉพาะการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการฝึกอบรมและพัฒนา เนื่องจากที่ผ่านมาการอบรมที่ได้รับอนุมัติหลักการจากคณะรัฐมนตรีเป็นการจัดการฝึกอบรมในรูปแบบเดิม ซึ่งมีข้อจำกัดด้านจำนวนคนและงบประมาณ ทำให้มีนักกฎหมายภาครัฐจำนวนมากที่มีระยะเวลารับราชการยาวนานยังไม่ได้รับ การฝึกอบรมและพัฒนา

3. ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงเนื้อหาของหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและหลักการดังกล่าว รวมทั้งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและนโบายของรัฐบาล เพื่อให้นักกฎหมายภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ